แกะพอร์ต 'แบงก์กรุงเทพ' กำไรหุ้นกระฉูด ผลตอบแทน 'ไอวีแอล-กัลฟ์' พุ่งเกิน100%

แกะพอร์ต 'แบงก์กรุงเทพ' กำไรหุ้นกระฉูด ผลตอบแทน 'ไอวีแอล-กัลฟ์' พุ่งเกิน100%

ผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ ยอมรับขายทำกำไรหุ้น “บีทีเอส” พร้อมระบุอาจขายตัวอื่นเพิ่มหากได้ผลตอบแทนดี ขณะ พอร์ตหุ้นแบงก์กรุงเทพ พบ 10 บริษัทใหญ่ ผลตอบแทนเกินครึ่ง “ไอวีแอล” ราคาพุ่งกว่า 253% ขณะ “กัลฟ์” บวกกว่า 132%

การตัดสินใจขายหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2562 ออกมาจำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่ารวมกว่า 7.4พันล้านบาท ล่าสุดผู้บริหาร BBL ยืนยันว่า การขายหุ้นดังกล่าว ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้น ธนาคารพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค หรือ “เพอร์มาตา” ของอินโดนีเซีย แต่เป็นเพียงการขายทำกำไรปกติเท่านั้น

ส่วนอนาคต BBL จะขายหุ้นอื่นในพอร์ตออกมาด้วยหรือไม่นั้น “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร BBL บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบัน BBL มีเงินลงทุนอยู่ในพอร์ตหุ้นจำนวนมาก ซึ่งหากเห็นว่ามีกำไรก็มีโอกาสที่จะทำการขายทำกำไรได้ แต่จะขายเมื่อไหร่นั้นโดยส่วนตัวไม่สามารถบอกได้

“เราขายหุ้น BTS เพราะราคามันดี ซึ่งเป็นการขายทำกำไรปกติ ขณะที่ปกติแล้วเราก็มีการขายหุ้นแบบนี้ทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งไม่เห็นแปลกเพราะทุกคนเขาก็ทำแบบนั้น ส่วนจะขายหุ้นตัวอื่นๆในพอร์ตอีกหรือไม่ ผมยังบอกไม่ได้”

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้สำรวจหุ้นในพอร์ตของ BBL พบว่า ปัจจุบันมีการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนรวม 48 บริษัท คิดเป็นมูลค่าราว 5.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก คาดว่า BBL น่าจะมีกำไรจากการลงทุนเกินกว่าครึ่ง อาทิ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) โดยพบว่า BBL ถือหุ้นมาตั้งแต่ช่วงขายหุ้น IPO ของ IVL ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 10.20 บาท ขณะที่ราวปัจจุบันของ IVL อยู่ที่ราว 36 บาท เพิ่มขึ้น 253%

ถัดมาคือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่ง BBL ถือ 47.50 ล้านบาท พบว่า เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้น GULF ซื้อขายที่ประมาณ 70 บาท ส่วนราคาปัจจุบันอยู่ที่ 162.50 บาท เพิ่มขึ้น 132%

อีกบริษัท คือ บมจ.วีจีไอ (VGI) ซึ่ง BBL ถือ 719.97 ล้านหุ้น เข้ามาถือครองจนติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงเดือน ก.ย. 2559 ซึ่งในขณะนั้น VGI ซื้อขายกันที่ราว 5-6 บาท ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 9.15 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 53 – 83%

ต่อจาก VGI คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นหุ้นที่ BBL ถือครองมาตั้งแต่ยังเป็นเพียง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ซึ่งการควบรวมและแปลงมาเป็น BEM ทำให้ต้นทุนของหุ้น BEM อยู่ที่ประมาณ 4.7 บาท ขณะที่ราคาปัจจุบันคือ 11.40 บาท หรือเพิ่มขึ้น 142.5%

ขณะเดียวกัน BBL ยังได้ปรากฎในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ช.การช่าง (CK) มาตั้งแต่ปี 2553 โดย ณ เวลานั้นซื้อขายกันที่ประมาณ 5 บาท ถือหุ้นรวม 38 ล้านหุ้น ส่วนปัจจุบันราคาหุ้น CK อยู่ที่ 19.10 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 282%

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ถือครองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) โดยปรากฎในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2561 ซึ่งราคา FTREIT ในเวลานั้นอยู่ที่ประมาณ 11 บาท ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 15.30 บาท หรือเพิ่มขึ้น 39%

ด้าน 'จันทนา ทวีรัตนศิลป์' ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การจะประเมินว่า BBL อาจจะขายหุ้นตัวไหนออกมาอีกบ้างในอนาคต ค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะพอร์ตลงทุนของ BBL นั้นค่อนข้างใหญ่ และมีจำนวนหุ้นค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมา BBL ก็มีการปรับพอร์ตอยู่เป็นระยะ โดยได้ขายหุ้นบางส่วนออกมาบ้าง แต่อาจจะไม่ได้เป็นมูลค่าสูงเหมือนกรณีของหุ้น BTS

“โดยส่วนตัวมองว่าการขายหุ้นของ BBL เป็นเพียงการขายทำกำไรบางส่วนเท่านั้น และก็อาจจะกระทบกับราคาหุ้นของหุ้นที่ถูกขายอยู่บ้างในระยะสั้น แต่หากเป็นเพียงแค่เหตุผลเพื่อทำกำไร เชื่อว่าหุ้นที่ BBL ขายออกมาก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ส่วนต้นทุนของหุ้นแต่ละตัวที่ BBL ถืออยู่นั้นปกติแล้วก็จะไม่ได้เปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน อย่างกรณีของ BTS อาจจะใช้วิธีพิจารณาจากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ต้นทุนของ BTS อาจจะอยู่ที่ประมาณ 5 บาท”

ทั้งนี้ หุ้น BTS ที่ BBL ขายออกมา 600 ล้านหุ้น ที่ราคา 12.40 บาท พบว่าปรากฎในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่วันปิดสมุดทะเบียน เดือน ก.ค. 2553 ในสัดส่วน 1.72 พันล้านหุ้น ซึ่งในขณะนั้นราคาหุ้น BTS ซื้อขายอยู่ที่ราว 5 บาท หากต้นทุนเป็นไปตามนี้ คาดว่าส่วนต่างราคาหุ้นที่ BBL ได้รับจากการขายหุ้น BTS ในครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 7.4 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4.4 พันล้านบาท

157686155476