'เลขาฯ ศาลยุติธรรม' แจงปมร้องเช็คระบบประมวลคะแนนเลือก กก.บริหารศาล

'เลขาฯ ศาลยุติธรรม' แจงปมร้องเช็คระบบประมวลคะแนนเลือก กก.บริหารศาล

"เลขาฯศาลยุติธรรม" เผยมีข้อมูลพร้อมเสนอที่ประชุม ก.ต. 24 ธ.ค. หลัง "หน.อุทธรณ์" ร้องตรวจสอบระบบประมวลผลเลือก ก.บ.ศ.ผ่านมือถือ ยันใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่วนร่วม ตรงไปตรงมา มีสถิติบ่งชี้ ลดการใช้คน-เวลานับคะแนนจากเดิมใช้บัตรลงคะแนน

จากกรณี เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นอุทธรณ์ (เลือกซ่อม 1 ตำแหน่ง)ได้ยื่นหนังสือถึง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา , คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และ ก.บ.ศ. ตรวจสอบระบบประมวลผลการลงคะแนนเลือก ก.บ.ศ. ชั้นอุทธรณ์ 1 คน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนวิธีลงคะแนนด้วยบัตรกระดาษ (ส่งไปรษณีย์จากผู้พิพากษามีสิทธิเลือกทั่วประเทศ) มาใช้วิธีการลงผลคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้สามารถลงคะแนนผ่านมือถือในแอพพิเคชั่น i-Vote และเก็บข้อมูลการลงคะแนนด้วยระบบบล็อกเชน ตามระเบียบ ก.บ.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก ก.บ.ศ. (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 เนื่องจาก นายบุญเขตร์ มีข้อสงสัยในการประมวลผลนับคะแนนว่าจะมีความผิดปกติทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงตามความจริงหรือไม่ ขณะที่มีรายงานว่า จะมีการนำเรื่องนี้สู่ที่ประชุม ก.ต. วันที่ 24 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.62 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขอตรวจสอบระบบว่า ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะมี outsource บริษัทเอกชนภายนอกดูแลระบบบล็อกเชนที่ต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดที่ทำด้วยความโปร่งใส ซึ่งกรณีดังกล่าวตนในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก ก.ต./ก.บ.ศ./ก.ศ. นั้น ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง outsource ให้ทำการตรวจสอบระบบซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคแล้ว ซึ่งในการประชุม ก.ต.วันที่ 24 ธ.ค.นี้ หากสอบถามในรายละเอียดก็มีข้อมูลพร้อมนำเสนอทั้งหมดที่มีการตรวจสอบมาแล้ว อย่างไรก็ดีในส่วนที่เรานำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการลงคะแนนและประมวลคะแนนนั้น สร้างความสะดวกจากที่ต้องส่งบัตรคะแนนทางไปรษณีย์จากทั่วประเทศมานับยังสำนักงานศาลยุติธรรมนี้ ซึ่งช่วยลดแรงงานคนนับบัตร และลดเวลาที่ปกติใช้เวลานานเป็นวันๆโดยตามการประเมินผลระบบพบว่าจากการเลือก คณะกรรมการ 3 ก.ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้คนลดลง 279 คน และเวลาทำงานลดลง 47 วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายลง 347,420.17 บาท

ขณะที่ การลงคะแนนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้พิพากษาแต่ละคนผ่านมือถือก็ต้องมีรหัส OTP เฉพาะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากจะมองว่าเป็นการทุจริตจึงเป็นไปได้ยาก โดยตนขอย้ำว่าการนำระบบมาใช้นั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตนไม่ได้มีประโยชน์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเพื่อประโยชน์ของใคร ขณะที่ไม่ว่าจะระบบใดก็พร้อมตรวจสอบได้ตรงไปตรงมา ไม่มีเรื่องการช่วยเหลือใคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือขอให้ตรวจสอบระบบประมวลผลนั้น ระบุว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม จัดให้มีการเลือกตั้ง ก.ต. และ ก.บ.ศ. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 ลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บข้อมูลการลงคะแนนในระบบบล็อกเชน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนจากโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. และสามารถทราบผลในทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง ขณะที่ในวันดังกล่าวเมื่อทราบผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.ต.ที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศในเวลาประมาณ 16.26  น.แล้ว

ในเวลาประมาณ 16.34 น.ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง 34 นาที ตนได้รับแจ้งทางแอปพลิเคชันไลน์จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมสรุปความได้ว่าทราบผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ.แล้ว กระทั่งเวลา 18.00 น.เศษ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง 2 ชั่วโมงเศษ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงประกาศผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ. ซึ่งแตกต่างจากผลการลงคะแนนเลือกตั้งที่ได้รับทราบจากพยานบุคคลดังกล่าว

โดยปกติการประมวลผลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์หลักและสำรองหลายเครื่องเพื่อช่วยในการประมวลผลและเพื่อป้องกันระบบล่มในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจึงทำให้การประมวลผลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ดังนั้นการประกาศผลการลงคะแนนที่ล่าช้าถึง 2 ชั่วโมงเศษย่อมไม่ใช่เป็นการประกาศผลการลงคะแนนในทันที่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้งตามประกาศของสำนักงานศาลยุติธรรม และไม่สอดคล้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับผลการเลือกตั้งที่แตกต่างจากที่ตนได้รับแจ้งจากพยานบุคคลดังกล่าว ทำให้มีเหตุให้สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในการประมวลผลการลงคะแนนเลือกตั้ง อันอาจมีผลถึงความถูกต้องของผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

และแม้เป็นการลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และเก็บข้อมูลการลงคะแนนในระบบบล็อกเชนที่มักกล่าวอ้างกันว่าไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบได้โดยง่าย แต่ความยากง่ายในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูลในระบบนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ และจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ประกอบเป็นโครงข่ายพื้นฐานของระบบดังกล่าวด้วย

ดังนั้นเห็นว่า หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงในการประมวลผลการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ว่าอาจเกิดจากระบบประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจเกิดจากการกระทำของบุคคล หรืออาจเกิดจากสาเหตุใดก็ตามย่อมทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงตามความเป็นจริงซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเสียสิทธิที่อาจได้รับการเลือกตั้งตามความเป็นจริงแล้วยังทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงกับเจตนาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอันอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และที่สำคัญที่สุดคือกระทบถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการศาลยุติธรรม จึงขอเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผลการเลือกตั้งที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งหลักฐานการลงคะแนนจะต้องเก็บไว้เป็นเวลา 90 วันนับแต่วันประกาศผล จึงจำเป็นต้องตรวจสอบด้วยความรวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การเลือก ก.บ.ศ.ดังกล่าว ตามผลที่ได้ประกาศโดยสำนักงานศาลยุติธรรม มีจำนวนผู้พิพากษาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 2,878 คน คิดเป็น 62.28% จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน 4,621 คน โดยผู้ที่ได้รับเลือก ก.บ.ศ.ชั้นอุทธรณ์ 1 คน ได้คะแนนสูงสุด 1,465 คะแนน ส่วนที่ 2 ได้ 602 คะแนน และนายบุญเขตร์ ได้คะแนนลำดับที่สาม 231 คะแนน

อย่างไรก็ดี มีรายงานแจ้งว่า ในส่วนของการร้องเรียนนั้นไม่ได้โต้แย้งในคุณสมบัติผู้ลงสมัครคนอื่นๆ แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบระบบนับคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดหรือไม่ เป็นการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งนำมาใช้ ซึ่งนับการเป็นขอตรวจสอบระบบครั้งแรก จากที่ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เริ่มนำระบบ i-Vote ลงคะแนนผ่านมือถือนั้นมาใช้กับการเลือกคณะกรรมการชุดต่างๆ ตั้งแต่เดือน พ.ค.62 ทั้ง ก.ต. (ที่มีอำนาจบริหารงานบุคคลในส่วนข้าราชการตุลาการ กำหนดคุณสมบัติแหน่ง พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา-พิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการฝ่ายตุลาการ) , ก.บ.ศ. (ที่มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบ/ประกาศ/มีมติเพื่อการบริหารราชการบริหารราชการและงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา-ให้ความเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่าย/การพัสดุในการบริหารราชการของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม-กำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน) , ก.ศ. หรือคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอัตรากำลังแต่งตั้ง-โยกย้าย/สิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทน สวัสดิการในส่วนข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษา)