มติสภาฯ ตั้ง กมธ. เช็คบิลปัญหาสร้าง 'รัฐสภาใหม่' ล่าช้า

มติสภาฯ ตั้ง กมธ. เช็คบิลปัญหาสร้าง 'รัฐสภาใหม่' ล่าช้า

ส.ส.อภิปราย รุมอัดผู้รับเหมา-ออกแบบ "รัฐสภาใหม่" พบปัญหาอื้อไม่ตอบสนองการใช้งานจริง วัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน เผยมติสภาตั้ง กมธ. เช็คบิลปัญหาสร้างล่าช้า

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ​ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา นายชวน กล่าวกับที่ประชุม ว่า ญัตติทั่วไปที่ค้างในระเบียบวาระ จำนวน 112 เรื่องและมีกระทู้ด่วน จำนวน 6 ญัตติ ทั้งนี้ถือเป็นผลงานร่วมกันของส.ส.​ที่ไม่ปรากฎบ่อยในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นไม่ว่าสภาฯ​จะมีภาพบวกหรือลบ ตนขอขอบคุณส.ส.ที่ร่วมใจทำงาน พิจารณาให้ผ่านไปด้วยดี และประชาชนได้รับประโยชน์

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจาณาญัตติทั่วไป กลุ่มว่าด้วย ขอให้สภาฯ​ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องแรก อภิปรายว่า สภาฯ​ต้องตรวจสอบบ้านของตนเอง เพราะถูกสังคมตั้งคำถามว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์​คอนสตรัคชั่ จำกัด วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท สัญญาหลัก 900 วัน ที่ต้องแล้วเสร็จ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้นมีเหตุผลที่ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและต้องต่อสัญญาไปอีก 4 ครั้ง ทำให้รวมเวลาก่อสร้างอาคารทั้งหมดกว่า 2,000 วัน ทั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่ขยายสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนั้นเพราะการแก้ไขแบบ ทั้งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถแก้ไขแบบได้โดยใช้เวลาไม่นาน เป็นเพราะมีเจตนาทำให้แบบมีปัญหาหรือไม่ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ผู้ว่าจ้างขยายสัญญาผู้รับจ้างโดยไม่ผิดกฎหมาย

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องที่สองซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ว่า ความพยายามขยายสัญญาก่อสร้างรอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม2562 - 31 ธันวาคม 2563 พบปัญหาสำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติงานในรัฐสภา ไม่ทราบและไม่แจ้งเหตุผลว่างานสร้างไม่แล้วเสร็จเพราะอะไร แต่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าเป็นความผิดของทางราชการ ทำให้ต้องขยายเวลาให้เอกชน ขณะเดียวกันพบข้อร้องเรียนจากอดีต ส.ส. ตนจึงสงสัยว่าเป็นเพราะผู้ว่าจ้างหรือผู้รบจ้าง อย่างไรก็ตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง ล่าสุด อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามแผนงานต้องแล้วเสร็จ 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่งานอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่ค้างอยู่พบว่ามีงานอีกหลายอย่าง เช่น ระบบปรับอากาศ, งานระบบสารสนเทศ, สถานีไฟฟ้า, สัญญาณไฟลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นงานจุกติกที่อาจทำให้งานก่อสร้างหลักเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นต้องตรวจสอบ

จากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส.​โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้งกมธ.ฯ วิสามัญเพื่อตรวจสอบ โดย นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายตนในฐานะกมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษาให้รายละเอียด พบว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นปัญหาเรื่องดินในพื้นที่และสถานที่นำดินไปทิ้งรวมถึงการขายดิน มูลค่าของดิน นอกจากนั้นจากการตรวจสอบล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับสถาปนิก และวิศวกรในพื้นที่ห้องประชุม และห้องกมธ.ฯ ทราบว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการต่อสัญญาครั้งที่ 4 ที่สัญญาจะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 นั้น เชื่อว่าอาจมีการต่อสัญญารอบที่ 5 เพราะมีสัญญาด้านระบบสาธารณูปโภค ที่จะสิ้นสุดสัญญา 5 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ตนเชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้นสภาฯ เสียประโยชน์เพราะต้องเช่าพื้นที่ภายนอก เพิ่มค่าเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนบุคคลที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้รับจ้าง ทั้งนี้การตรวจสอบภายใต้อำนาจของกมธ.กิจการสภาฯ​ไม่สามารถเอาอยู่ ดังนั้นต้องให้ทั้งสภาฯ​ช่วยตรวจสอบ

ขณะที่นายไกรก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่าสำหรับปัญหาที่ทำให้สภาฯ​ต้องต่อสัญญางานก่อสร้างออกไป ถึง ครั้งที่ 4 จากการติดตามงานที่ผ่านมา พบว่าการขยายสัญญารอบที่ 1 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 - 11 ธันวาคม 2559 รวมเวลา 387 วัน งานคืบหน้า 30 เปอร์เซ็นต์, รอบที่2 วันที่ 16 ธันวาคม 2559 - 9 กุมภาพันธ์ 2561 รวมเวลา 421 วัน งานคืบหน้า 45 เปอร์เซ็นต์ ,​ รอบที่ 3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 - 15 ธันวาคม 2562 งานคืบหน้า 75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ระยะที่ต่อสัญญาครั้งที่ 2 ความคืบหน้างานเพิ่มเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยปัญหาสำคัญคือการส่งมอบพื้นที่และการขนย้ายดิน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารหลัก ส่งมอบแล้วเสร็จ 11 พฤศจิกายน แต่มีปัญหาที่ไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลาและล่าช้าที่สุด เพียงพื้นที่ 1 งาน ส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานก่อสร้างหลัก ขณะที่การขนย้ายดินแล้วเสร็จ วันที่ 21 มกราคม 2559 ซึ่งช่วงที่มีปัญหานั้นอยู่ภายใต้การกำกับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นต้องตรวจสอบการกำกับและความจริงใจในยุคดังกล่าว

นายไกรก้อง อภิปรายด้วยว่า การขยายสัญญารอบที่ 4 ช่วง วันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 31 ธันวาคม 2563 นั้นมีเหตุสำคัญ คือ งานนอกระบบสัญญา จากการตรวจสอบพบงานระบบสารสนเทศ หรือ ไอซีที ที่มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท ที่มีรายละเอียดงาาน 10 ระบบ อาทิ ศูนย์รับส่งสัญญาณดาวเทียม, ไอทีทีวี, ศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก, ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์, ระบบห้องเครื่องเสียง, ภาพ, ระบบการลงคะแนนในประชุมวุฒิสภา, ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร , การพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นการประชุม เป็นต้น โดยล่าสุดมีความคืบหน้าเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามแผนต่้องแล้วเสร็จ 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นในงานระบบเน็ตเวิร์ค ที่มีรายการสำคัญ​คือท่อร้อยสาย ล่าสุดพบว่าสภาฯ ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างเดินท่อร้อยสายได้ ซึ่งเชื่อว่าเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดการต่อสัญญาครั้งที่ 5 ได้

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่า ขอให้กมธ.ฯ ศึกษาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สภา เสียค่าโง่ เพราะตนมั่นใจว่าการก่อสร้างที่ขยายสัญญารอบที่ 4 จะไม่แล้วเสร็จ และต้องต่อสัญญาครั้งที่ 5 ปัจจัยสำคัญ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นสิ่งที่กมธ.ฯ​ต้องพิจารณา เพื่ออุดช่องโหว่ที่นำไปสู่การเสียค่าโง่ คล้ายกับคดีคลองด่าน ที่ปี 2549 ไม่มีประเด็นที่จะทำให้เสียค่าโง่ แต่หลังจากนั้นพบการขยายสัญญาและต่อสัญญา พบเงินทอนหมื่นล้านบาท ซึ่งตนไม่อยากให้สภาฯ ต้องเสียค่าโง่ ทั้งนี้ปัญหาที่อาจทำให้ต้องต่อสัญญารอบต่อไป คือ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ก่อนรับมอบงาน ทำให้มีงานที่ต้องซ่อมแซมและอาจถูกเรียกค่าเสียหาย ที่สภาฯ ต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจ่าย ในปี 63 -64

นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งนี้ เพราะพบว่าการออกแบบรัฐสภาไม่ตอบสนองการทำงาน ของสภาฯ พร้อมตั้งข้อสงเกตว่าระยะเวลา การก่อสร้าง ตามสัญญา เพียง 900 วัน ทั้งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ว่าเป็นความจงใจที่จะขอขยายตั้งแต่แรกหรือไม่ เพราะระยะเวลาที่ขอขยายขณะนี้ มากกว่า 2,000 วันแล้ว

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังได้แสดงความเห็น เห็นด้วยที่มีสมาชิกอภิปราย ชี้ให้เห็นปัญหาวัสดุก่อสร้างหลายจุดที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะห้องน้ำ ที่ออกแบบพื้นห้องน้ำ ที่มีความสปรกง่าย ทำให้ แม่บ้านต้องคอยทำความสะอาดตลอดเวลา ส่วนห้องน้ำที่ไม่มีสายฉีดชำระก็ได้ดำเนินการติดตั้งให้เรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดเผยว่าได้สั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เตรียมแผนการใช้งานอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วในอนาคตเพื่อความเป็นระบบระเบียบในการใช้งาน


จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติโดยมติข้างมาก 254 เสียงเห็นด้วย และงดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ให้กรอบเวลาพิจารณาภายใน 60 วัน ทั้งนี้นายชวน แจ้งให้ทราบด้วยว่า ตนให้เลขาธิกาารสภาฯ​ศึกษากระบวนการใช้พื้นที่อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องเตรียมการไว้ในอนาคตด้วย