'ไตรรักษ์' หมอต้นคิด ผลิตยาต้านมะเร็งในไทย

'ไตรรักษ์' หมอต้นคิด ผลิตยาต้านมะเร็งในไทย

4 ปีข้างหน้า หรืออาจนานกว่านั้น โลกใบนี้จะมียาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันที่ผลิตโดยคนไทยเป็นครั้งแรก

"ในช่วงชีวิตของเรา ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็ง 40 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง 1 ใน 3 คน หลีกเลี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่ลดเปอร์เซ็นต์ได้" ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว และไม่ใช่คำกล่าวครั้งแรกของเขา 

157682537028

นับตั้งแต่คุณหมอกลับมาเมืองไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เรื่องที่เขาทำทั้งยากและไม่มีใครทำ เนื่องจากต้องมีทีมงานทั้งแพทย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่มีองค์ความรู้หลากหลายและใช้งบประมาณมหาศาลในการผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตยาทำมาเกินครึ่งทางแล้ว และอีก 4 ปีข้างหน้า หรืออาจนานกว่านั้นจะผลิตยาสำเร็จ และคงต้องมีระยะเวลาทดสอบในมนุษย์อีกระยะหนึ่ง โดยเขามีเป้าหมายว่า จะผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันที่ปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศราคาเข็มละ 200,000 บาท ให้เหลือเข็มละ 20,000 บาท เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการระดมทุนเพื่อผลิตยา 

 -1-

วงการแพทย์ให้ความสนใจเรื่องการรักษามะเร็งมานาน มีการตั้งโครงการ Cancer Moonshot ตอนที่ลูกชายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดี สมัยบารัค โอบามา เป็นมะเร็งที่สมองและเสียชีวิต ซึ่งโครงการดังกล่าวใหญ่เทียบเท่าจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จะส่งคนไปเยือนดวงจันทร์ โดยให้เงินทุนของประเทศพัฒนาวิจัยเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์คิดค้นวิธีหยุดยั้งมะเร็ง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cancer Breakthroughs 2020

ล่าสุดศาสตราจารย์เจมส์ พี. อัลลิสัน (James P. Allison) และศาสตราจารย์ทาสุคุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ประจำปี 2018 ค้นพบ วิธีรักษามะเร็งด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ​

157682539251

คุณหมอไตรรักษ์ เห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำผลงานมาต่อยอด หากทำสำเร็จก็จะเป็นครั้งแรกของคนไทย ที่สามารถผลิตยาแอนติบอดี้ต้านมะเร็ง เพื่อทำให้ระบบการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนการรักษาแบบเดิมๆ

"เมื่อสองปีที่แล้ว ยาเพิ่งได้รับการอนุมัติที่อเมริกา เราเห็นว่าประสบความสำเร็จและนำมาใช้แล้ว เราก็อยู่ในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ก็นำมาศึกษาวิจัยทดลองผลิตเอง ซึ่งยากมาก เราไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราต่อยอด เอาสิ่งที่เขาพิสูจน์แล้วมาทดลองทำยาราคาที่ถูกลง และพยายามคิดค้นภูมิต้านทานบำบัดวิธีอื่นๆ ด้วย ทำไปพร้อมๆ กับนักวิจัยทั่วโลก" คุณหมอไตรรักษ์ กล่าว และอธิบายต่อว่า

"ปกติแล้วมะเร็งพยายามหลอกเม็ดเลือดขาวว่ามันเป็นเซลล์ปกติ เมื่อก่อนเราไม่รู้ ก็พยายามกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ปรากฏว่าฆ่ามะเร็งไม่ได้ แต่นักวิจัยสองคนนี้เข้าใจกลไกการทำงาน จึงพัฒนายาภูมิต้านทานให้ดีขึ้น โดยทางจุฬาฯ เห็นความสำคัญ อนุมัติงบให้ 100 ล้านบาท และมีเงินบริจาคเข้ามา ระยะแรกรวม 300 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่หมด แต่เราต้องใช้เงินกว่า 1,500 ล้านบาท ถ้าเข้าโรงงานผลิตยาก็ประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อพิสูจน์ว่า ยาคุณภาพดี มีความปลอดภัย ต้องใช้เวลากว่าสี่ปี หรืออาจนานกว่านั้นผลิตยา ส่วนขั้นทดสอบในมนุษย์ ถ้าทดสอบ 500 คน ต้นทุนหนึ่งคนมากกว่าหนึ่งล้านบาท ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือ หรือมีเงินบริจาคเข้ามาเยอะๆ เราจะกำหนดราคาเองได้ คาดคะเนว่า จากเข็มละสองแสนบาท น่าจะเหลือสองหมื่นบาท"

แม้เงินบริจาคช่วงแรกกว่า 300 ล้านบาท จะทำให้โครงการเดินต่อไปได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จ คุณหมอบอกว่า บริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีประมาณ 5-6 บริษัท ก็อยากร่วมงานผลิตยากับทางจุฬาฯ

เรื่องนี้เกินความคาดหมาย ไม่ใช่แค่เงินบริจาค เป็นโอกาสที่ทีมงานได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีจากบริษัทยาต่างชาติ และยังมีคนไทยที่อยากช่วย ทั้งเรื่องกฎหมาย ลิขสิทธิ์ การค้า เพราะการผลิตยาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีทุกแผนก ไม่ได้มีแค่นักวิจัยและทีมแพทย์ ยังมีแผนกกฎหมาย แผนกธุรกิจ ดังนั้นแคมเปญนี้จะเป็นธุรกิจคนไทย ตอนนี้เราอยู่ขั้นที่ 2 ทำได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ กำลังพัฒนายาต้นแบบให้พร้อมเข้าโรงงาน ส่วนขั้นที่ 3 เข้าโรงงานผลิตยา และขั้นที่ 4 คือ คัดคนไข้เข้าโครงการทดสอบยา
  157682541718

-2-

แม้ในต่างประเทศและเมืองไทย จะมีผู้ใช้ยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย คุณหมอไตรรักษ์ บอกว่า มีงานวิจัยส่วนหนึ่งยืนยันว่า ถ้าเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลามและวินิจฉัยแล้วว่าอยู่ได้ไม่นาน ถ้าได้รับยากลุ่มภูมิต้านทานก็จะมีชีวิตอยู่รอด 2 ปีขึ้นไป โอกาสประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่มีผลงานวิจัยรับรองอย่างเป็นทางการ  ซึ่งจะรับรองได้ก็ต่อเมื่อมีการทำวิจัยในมนุษย์ในระดับที่เพียงพอ รวมถึงมีผลยืนยันชัดเจน

"มะเร็งแต่ละชนิดแต่ละคน ไม่สามารถบอกได้ว่าได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในเมืองไทยบ้างแล้ว เพราะมียาจากต่างประเทศเข้ามา (เข็มละสองแสนบาท) เท่าที่คุยกับทีมแพทย์มะเร็งก็ได้ผลเทียบเท่าต่างประเทศใช้ หากยาตอบสนองได้ดีคนไข้ก็อยู่ได้นาน การศึกษาเรื่องภูมิต้านทานมะเร็งเป็นเรื่องใหญ่มาก นักวิจัยเป็นหมื่นๆ แสนๆ คนในวงการมะเร็งทั่วโลกก็ยังวิจัยกันอยู่ และเป็นช่วงเริ่มต้น เราจึงอยากทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นก่อน แม้จะยากแต่เป็นไปได้ และเมื่อถึงวันนั้นอาจไม่ได้อยู่ในมือผม ผมจึงไม่สามารถบอกวันเวลาที่จะทำเสร็จได้แน่นอน เพราะไม่ใช่เทคโนโลยีไปดาวอังคาร"

ในเรื่องภูมิคุ้มกันต้านมะเร็ง  คุณหมอและทีมงานกำลังทำอยู่สองเรื่อง คือ ยาแอนติบอดี้ เพื่อใช้กระตุ้นเม็ดเลือดขาว สร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับมะเร็ง ส่วนอีกรูปแบบคือ วัคซีนเฉพาะบุคคลใช้รักษามะเร็ง 

"เรื่องหลังล้ำยุคมาก ต้องวิเคราะห์มะเร็งของคนๆ นั้นก่อน แล้วนำก้อนเนื้อมาถอดรหัสพันธุกรรมดูรูปแบบการกลายพันธุ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สร้างวัคซีนจากการกลายพันธุ์ของคนๆ นั้น ฉีดกลับเข้าไป ตอนนี้ผลิตวัคซีนได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทดสอบในมนุษย์ อยู่ในขั้นยื่นคณะกรรมการจริยธรรม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กลางปีหน้าน่าจะทดสอบได้ จึงบอกไม่ได้ว่าคนไทยจะได้ใช้เมื่อไหร่ เรื่องนี้เราพัฒนาจนก้าวทันต่างประเทศ ทำให้มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น”

 

-3-

คนที่จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ คงต้องมีประสบการณ์ที่หลากหลาย...

คุณหมอไตรรักษ์ เป็นทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และโปรแกรมเมอร์ ซึ่งคนแบบนี้ ค่อนข้างหายากในเมืองไทย เขาเคยทำงานในห้องทดลองสถาบันสุขภาพแห่งชาติ(อังกฤษ:National Institutes of Health) หรือเอ็นไอเอช(NIH)หน่วยงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการแพทย์ 

เขาอยู่ที่นั่นกว่า 9 ปี มีส่วนร่วมและริเริ่มโครงการประมาณ 60 โครงการ ศึกษาวิจัยหลายเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ

"หลังจากกลับมาเมืองไทยก็เลือกโจทย์ที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะเราก็มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง และทุกคนรอบๆ ตัวเราก็มีสิทธิเป็นมะเร็ง ผมก็เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้การรักษามะเร็ง ผมอยากทำอะไรให้ลูกหรือเจอเนเรชั่นต่อไปได้รับสิ่งดีๆ อยากใช้เวลาทุกลมหายใจทำประโยชน์ให้คนอื่น"

157682548976

เมื่อถามว่า การทำงานแบบนี้ต้องคิดนอกกรอบไหม 

คุณหมอบอกว่า ต้องคิดเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถ้าต้องนอกกรอบก็นอกกรอบ

"ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ข้อมูลเยอะ ถอดรหัสพันธุกรรม วิเคราะห์นั่นนี่ ก็ต้องเขียนซอฟแวร์ได้ เคยออกแบบแอนติบอดี้ให้รัฐบาลอเมริกา ทั่วโลกก็ใช้ซอฟแวร์ของผม แต่ไม่มีใครรู้ว่า คนไทยเขียนโปรแกรมนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ชื่อโปรแกรม AbDesigner และเป้าหมายสูงสุดของผม คือ kill cancer ต้องการรักษาคนไข้ที่ป่วยจากมะเร็ง มีโอกาสหาย ผมต้องบอกก่อนว่า เป้าหมายกับสิ่งที่ทำได้จริง ต้องแยกจากกัน ช่วงนี้เป็นการบุกเบิกสร้างคน และต้องมีคนสานต่อในอนาคต" คุณหมอไตรรักษ์ กล่าวและว่า

"สิ่งที่ผมทำแค่เปอร์เซ็นต์เล็กๆ ของงานวิจัยต่างประเทศ ผมจะทำเสร็จแเมื่อไหร่ ผมไม่รู้" 

  • เชิญร่วมบริจาค เพื่อสมทบทุนพัฒนายาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกัน ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขบัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)

ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต