ล็อกซเล่ย์ ปรับโครงสร้างดัน 'สุรช ล่ำซำ' นั่งซีอีโอควบกรรมการผู้จัดการ

ล็อกซเล่ย์ ปรับโครงสร้างดัน 'สุรช ล่ำซำ' นั่งซีอีโอควบกรรมการผู้จัดการ

ล็อกซเล่ย์ปรับทัพผู้บริหาร-โครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ตั้งทีมสกรีนงาน เร่งโฟกัสธุรกิจหลักที่เชี่ยวชาญ หวังลบภาพความหลากหลาย สร้างกำไรอย่างยั่งยืน

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล็อกซเล่ย์มีการปรับตัวมาตลอด ด้วยการรีโฟกัสธุรกิจ จากเดิมที่ทำธุรกิจหลากหลาย ให้กลับมามุ่งเน้นธุรกิจหลักๆ ของตนเองให้ชัดเจนขึ้น

โดยโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่ง สามารถทำกำไรได้ เพื่อกำหนดเป็นทิศทางให้ล็อกซเล่ย์มุ่งไปในอนาคต ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจไอที ธุรกิจเน็ตเวิร์ตโซลูชั่น ธุรกิจบริการ และธุรกิจอาหารและการจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ การแข่งขันที่รุนแรง และกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่บีบให้ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ล็อกซเล่ย์จึงต้องปรับตัวอีกครั้ง ซึ่งต้องเป็นการทำอย่างรวดเร็วและเห็นผลกระทบชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กรโดยรวม

“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารจึงร่วมมือกันทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในทุกระดับให้กระชับขึ้น มีการปรับลด และปรับปรุงหน่วยงานที่ไม่ทำกำไร และการควบรวมหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถทำกำไรได้ในอนาคต” นายสุรช กล่าว

การปรับโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน ได้แก่ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการ จากเดิมที่มีคณะกรรมการบริหาร 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดการ (Management Board) คณะกรรมการบริหาร(Executive Board) และคณะกรรมการบริษัท (Board of Director) มาเป็นโครงสร้างใหม่คือ การควบรวมคณะกรรมการจัดการและคณะกรรมการบริหารเข้าด้วยกัน พร้อมกับลดจำนวนคณะกรรมการต่างๆ ให้มีความเหมาะสม แต่ยังคงสอดคล้องและเป็นไปตามระเบียบปฎิบัติ คาดว่าการปรับลดคณะกรรมการ และจำนวนกรรมการดังกล่าวจะช่วยให้การบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น

ในส่วนของการดำเนินธุรกิจ ล็อกซเล่ย์จะกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยมีพันธกิจ (Mission) คือ การเป็น พันธมิตรทางธุรกิจ” (The Partner of Choice)

ผ่านเป้าหมายทางกลยุทธหลัก 3 ประการ คือ มีเป้าหมายที่จะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแก่ง เป็นผู้นำตลาดในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ และพัฒนาทีมหรือบุคลากรที่มีความแข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียวกัน

ส่วนในด้านบุคลากรนั้น ล็อกซเล่ย์ ได้พิจารณาปรับโครงสร้างจำนวนพนักงาน ให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การลดความซ้ำซ้อนของงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

บริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการและการลงทุน (Project Investment & Evaluation Committee : PIEC) ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาการลงทุนและการเข้าประมูลในโครงการต่างๆ โดยมุ่นเน้นเฉพาะธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ และทำกำไรได้อย่างแท้จริง เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

“เป้าหมายของล็อกซเล่ย์ในอนาคต คือ การผันตัวเองเป็น Holding-Operating Companyหรือ บริษัทที่ทำธุรกิจของตัวเองไปพร้อมกับการกำกับดูแลบริษัทในเครือ หรือที่เรียกว่า ผู้ถือหุ้นแบบผสม โดยขับเคลื่อนผ่านบริษัทย่อยที่เป็น Flagship company ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านผลประกอบการ การเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักเดิมที่มีอยู่ ตลอดจนการมีทีมงานที่มีศักยภาพร่วมเดินไปด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่งคงและเติบโตอย่างยั่งยืน”