ถอดถอน ‘ทรัมป์’ พ้นปธน. ย้ำจุดแข็งระบบการเมืองสหรัฐ

ถอดถอน ‘ทรัมป์’ พ้นปธน. ย้ำจุดแข็งระบบการเมืองสหรัฐ

คำกล่าวที่ว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองของสหรัฐ เป็นคำกล่าวที่จริงตามตัวอักษรเมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ลงมติถอดถอนปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ใน 2 ข้อหา ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศที่ถูกพิจารณาถอดถอนในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐงมติถอดถอนปธน.ทรัมป์ใน 2 ข้อหาคือ ข้อหาการใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส ส่งผลให้ทรัมป์กลายเป็นปธน.คนที่ 3 ของสหรัฐที่ถูกพิจารณาถอดถอนในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ถัดจาก แอนดรูว์ จอห์นสัน และ บิล คลินตัน

สภาผู้แทนฯ ลงมติในข้อหาการใช้อำนาจในทางมิชอบต่อทรัมป์ด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 เสียง ส่วนข้อหาขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส ลงมติด้วยคะแนนเสียง 229 ต่อ 198 หลังจากเสร็จสิ้นการลงมติแล้ว สภาผู้แทนฯสหรัฐได้ส่งเรื่องนี้ให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป โดยวุฒิสภามีกำหนดลงมติในเดือนม.ค.ปีหน้า

ภายใต้รัฐธรรมของสหรัฐ สภาผู้แทนฯสหรัฐ สามารถใช้เสียงข้างมากในการผ่านมติการถอดถอน แต่ในขั้นตอนของวุฒิสภาจะต้องใช้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีวุฒิสภาชิกลงมติสนับสนุนการถอดถอนจำนวน 67 คน จากทั้งหมด 100 คน จึงจะสามารถถอดถอน ปธน.ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งได้

ชนวนเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการไต่สวนและลงมติเพื่อถอดถอนทรัมป์ มาจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำสหรัฐกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคเดโมแครต มองว่า ทรัมป์มีพฤติกรรมใช้อำนาจมิชอบด้วยการกดดันรัฐบาลต่างชาติ ซึ่งในที่นี้คือรัฐบาลยูเครน ให้สอบสวนบุตรชายของคู่แข่งทางการเมือง คือนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต และตั้งเงื่อนไขเป็นงบประมาณสนับสนุนกองทัพยูเครน

ขณะที่การขัดขวางกระบวนการทำงานของสภาคองเกรส หมายถึงการที่ผู้นำสหรัฐไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในปัจจุบัน และอดีตผู้ที่เคยทำงานร่วมกับทรัมป์ในทำเนียบขาวหลายคน ให้การต่อคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังปิดกั้นสิทธิ์ของคณะกรรมาธิการในการเข้าถึงเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ต่างจากสภาผู้แทนฯที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่า ปธน.ทรัมป์ อาจจะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนในขั้นตอนของวุฒิสภา ซึ่งทำเนียบขาวก็ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า วุฒิสภาสหรัฐ จะลงมติให้ทรัมป์พ้นจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

"สเตฟานี กริสแชม" โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า เหตุการณ์วันนี้มีความสำคัญต่อสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหนึ่งในเรื่องราวทางการเมืองที่น่าอับอายมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่พรรคเดโมแครตอนุมัติญัตติถอดถอนปธน.ทรัมป์โดยไม่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันแม้แต่เสียงเดียว และไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพื่อพิสูจน์ว่าปธน.ทรัมป์กระทำผิด

"ประธานาธิบดีมีความมั่นใจว่าวุฒิสภาจะฟื้นฟูกระบวนการที่มีความสงบเรียบร้อย ยุติธรรมและเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดถูกเพิกเฉยในกระบวนการไต่สวนของสภาผู้แทนราษฎร โดยเขาพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป และมั่นใจว่า เขาจะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยสิ้นเชิง”แถลงการณ์จากโฆษกทำเนียบขาวระบุ

ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียสองตลาดคือดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดตลาดปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ดัชนีฮั่งเส็ง ลดลง 83.72 จุด หรือ 0.30% ปิดวันนี้ที่ 27,800.49 จุด

เช่นเดียวกับ ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดปรับตัวลง 69.58 จุด หรือ 0.29% แตะที่ 23,864.85 จุด โดยหุ้นที่ปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มกระดาษและเยื่อกระดาษ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มสินค้าเบ็ดเตล็ด

ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ มีประธานาธิบดีถูกตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนในสภาล่างมาแล้วสองครั้ง คืออดีตประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงกลางศตวรรษที่19 และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งทั้งคู่ถูกสภาล่างที่ทำหน้าที่คล้ายอัยการตั้งข้อหาเพื่อถอดถอน แต่วุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหา ส่วนผู้นำสหรัฐอีกคนหนึ่ง ซึ่งถูกกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเช่นกัน คืออดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แต่ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อน

ในส่วนของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งจดหมายถึงแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงเรื่องญัตติขอถอดถอน โดยบอกว่า กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐถือเป็นความพยายามทำรัฐประหารโดยผิดกฏหมาย และรายละเอียดส่วนหนึ่งของจดหมายที่มีความยาว 6 หน้า กล่าวหาพรรคเดโมแครตว่าทำให้เกิดความวิปริต และบิดเบือนความยุติธรรม รวมทั้งใช้อำนาจในทางที่ผิด ในความพยายามถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง

แม้สภาผู้แทนฯอนุมัติมติถอดถอนทรัมป์แล้ว แต่เพโลซี ปฏิเสธที่จะส่งมอบญัตติถอดถอนให้กับวุฒิสภาในทันที โดยระบุถึงความวิตกเกี่ยวกับการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมในการถอดถอนปธน.ทรัมป์ในขั้นตอนของวุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก

เพโลซี กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการลงมติถอดถอนว่า “จนถึงขณะนี้ เรายังไม่เห็นสิ่งใดที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมกับเรา”

ด้านหนังสือพิมพ์โพลิติโค รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเดโมแครตว่า สภาผู้แทนฯ ไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการส่งญัตติไปยังวุฒิสภาจนกว่าจะถึงต้นเดือนม.ค. ซึ่งล่าช้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรืออาจจะนานกว่านั้น

ขณะที่“มิตช์ แมคคอนเนลล์” ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาปฏิเสธข้อเสนอของชาร์ลส ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาเกี่ยวกับกรอบการพิจารณาถอดถอน ซึ่งจะรวมถึงการให้การของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวทั้งในอดีตและปัจจุบัน และต่อข้อถามที่ว่า เขาจะเป็นลูกขุนที่เป็นธรรมหรือไม่ แมคคอนเนลล์ระบุว่า “เขาไม่ได้เป็นลูกขุนที่เป็นธรรม นี่เป็นกระบวนการทางการเมือง ไม่มีอะไรเกี่ยวกับกฎหมาย”

ภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐ สภาผู้แทนฯมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี ขณะที่วุฒิสภา มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินกระบวนการถอดถอนทั้งหมด

อ่านข่าว-ถอดถอน 'โดนัลด์ ทรัมป์' ไม่ง่าย