สอท.ผนึกสู้แล้ง 'ตะวันออก' ห่วงฉะเชิงเทรากระทบหนักสุด

สอท.ผนึกสู้แล้ง 'ตะวันออก' ห่วงฉะเชิงเทรากระทบหนักสุด

ส.อ.ท.เผย ภัยแล้งกระทบโรงงานอีอีซี ฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบสูงสุด น้ำทะเลหนุนบางปะกง ส่งผลน้ำกร่อยมีผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ ชี้ต้องซื้อน้ำจากจังหวัดอื่นมาใช้

นางอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ภัยแล้งเริ่มกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคตะวันออก โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ติดทะเล และพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเป็นหลักเมื่อเกิดภัยแล้วน้ำทะเลจะหนุนเข้ามาทำให้เป็นน้ำกร่อย 

กระทบกับโรงงานที่ต้องใช้น้ำจืดที่มีคุณภาพ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องมือแพทย์ ทำให้ต้องซื้อน้ำจากที่อื่นเข้ามาใช้ และบางรายต้องลดกำลังการผลิต ส่วนในจังหวัดชลบุรี และระยอง ยังไม่มีปัญหา เพราะบริหารจัดการน้ำได้

“ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ต้องไม่ดูเพียงแค่ปริมาณน้ำเพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงแล้งจะมีปัญหาคุณภาพน้ำตามมา เช่น น้ำขุ่น น้ำกร่อย หรือสกปรกเกินไป ทำให้นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ จึงทำให้โรงงานที่ต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพสูง ต้องหันไปซื้อน้ำจากรถน้ำที่นำมาจากจังหวัดอื่นมาใช้ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น”

ในปีนี้ถือได้ว่าน้ำแล้งที่สุดในรอบ 14 ปี โดยที่ผ่านมาคูคลองและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเพียงพอทั้งปี แต่ในปีนี้ลดลงมาก ซึ่ง ส.อ.ท.ภาคตะวันออกจะนำเรื่องนี้ขึ้นไปหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด (กรอ.จังหวัด) และจะไปหารือกับกรมชลประทาน เพื่อร่วมวางแผนการประหยัดการใช้น้ำ เพื่อให้ทั้งภาคการผลิต เกษตร และประชาชน ผ่านช่วงภัยแล้งนี้ไปได้

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้หากไม่มีฝนตกคาดว่าปริมาณน้ำในภาคตะวันออกจะมีพอใช้ไปจนถึงต้นเดือนเม.ย. 2563 หากฝนยังไม่ตกลงมาปริมาณน้ำจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน และจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส.อ.ท. เห็นว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจัดทำแผนผังข้อมูลการไหลของน้ำทั่วประเทศ เพื่อดูว่าเส้นทางน้ำต่างๆไหลไปในทิศทางใดและทำอ่างเก็บน้ำขึ้นมารองรับน้ำจากสายน้ำเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้การสร้างอ่างเก็บน้ำมีประสิทธิภาพ และกระจายทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ควรกำหนดให้ผู้รับเหมาะในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้งบประมาณกระจายลงไปสู่ท้องถิ่น

“ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ กระทบกับพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมากที่สุด ขณะนี้บางโรงงานในภาคตะวันออกเริ่มต้องซื้อน้ำมาใช้บ้างแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการเข้าไปช่วยลดต้นทุนให้กับโรงงานเหล่านี้ เพราะภาวะภัยแล้งได้เข้าไปซ้ำเติมผลกระทบที่เกิดจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามการค้า หากต้องแบกรับต้นทุนค่าน้ำเข้าไปอีกก็จะยิ่งแย่”

157676101156

นายโชคชัย มนตรีอมรเชฐ กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก พบว่าปริมาณฝนสะสมปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 30% เป็นปีน้าน้อย ปริมาณน้าเก็บกักรวมอ่างเก็บน้ำดอกกราย, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ณ วันที่ 3 พ.ย. 2562 คงเหลือครึ่งหนึ่งของความจุ คาดว่าจะจัดสรรน้ำจาก 3 อ่างฯหลัก จ.ระยอง เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้งปี 2563

ทั้งนี้ รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ เช่น สานักงานชลประทานที่ 9, โครงการชลประทานระยอง, โครงการชลประทานชลบุรี, โครงการชลประทานประแสร์ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เข้าร่วมประชุมกัน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ

รวมทั้งวางแผนรับมือจากสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือน้อยเปรียบเทียบกับปีก่อน เพราะฉะนั้นจึงมีมาตรการร่วมกันเพื่อมั่นใจว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงฤดูแล้งปีหน้า โดยมีมาตรการต่อไปนี้ ได้แก่ การร่วมรณรงค์ใช้น้าอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น และจัดหาแหล่งน้าสารองเพิ่มเติมไว้

หนุนโรงงานใช้น้ำน้อย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้ดำเนินการภายใต้ Eco Factory และมีการใช้น้าอย่างประหยัดเรื่อยมาและมีมาตรการในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น โดยการลดการใช้น้ำ และมีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ มีการประเมิน Water footprint และการพัฒนาระบบ SMART system โดยการประยุกต์แนวทาง 3R ร่วมกับการพัฒนาระบบ IoT มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างน้อย 15% และตรวจเช็คอุปกรณ์ไม่ให้มีการรั่วไหลและสูญเสีย เพื่อให้เกิดความมั่นใจทางภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ได้ประชุมหารือแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านน้าในภาคตะวันออกกับสำนักงานทรัพยากรน้าแห่งชาติ (สทนช), กรมชลประทาน และสานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงแผนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก

เร่งเตรียมแผนผันน้ำ

โดยมีข้อสรุปว่าระบบการจัดการด้านน้ำภาคตะวันออกมีทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว ที่ภาครัฐมีแผนบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็น แผนระยะสั้น การหาแหล่งน้ำอื่นมาเสริม ผันน้ำจากแม่น้ำระยองเข้าสระทับมา ผันน้ำจากอ่างฯประแสร์มาเสริม เร่งรัดโครงการคลองสะพานเพื่อสูบกลับไปอ่างประแสร์ และสูบผันจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเมื่อค่าความเค็มลดลงมายังอ่างบางพระ

ส่วนระยะยาว โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเพื่อรองรับอีอีซีเพิ่ม ได้แก่ 1.พัฒนาแหล่งเก็บน้ำลุ่มน้าคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ผันน้ำมาอ่างประแสร์ 2. เพิ่มความจุอ่าง เสริม Spillway ในภาคตะวันออก 7 แห่ง 3.โครงการสูบน้ากลับจากคลองพานทองมาอ่างบางพระ 4. โครงการสูบน้ำกลับจากคลองสะพานมาอ่างประแสร์ 5.โครงการเชื่อมระบบท่อส่งน้ำเข้ามาในโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก

“ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุปโภคบริโภค ภาคการท่องเที่ยว ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อลดการใช้น้ำ โดยมั่นใจจะทำได้ตามมาตรการดังกล่าว เพราะเคยนำแผนนี้มาใช้แล้วตอนวิกฤตภัยแล้งปี 2548”