2 ขั้วไขกุญแจ แก้ (อะไร) ในรธน.?

2 ขั้วไขกุญแจ แก้ (อะไร) ในรธน.?

มติเอกฉันท์ของที่ประชุมสภาฯ 445 เสียง “เห็นด้วย” กับการให้ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไปเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 มีกรอบระยะเวลาพิจารณา 120 วัน พร้อมทั้งกำหนดประชุมนัดแรกวันที่ 24 ธ.ค.2562

โดยมีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จากตัวแทน 9 พรรคและ 1 สัดส่วน คณะรัฐมนตรี รวม 49 คน

ไฮไลท์สำคัญ นอกจากการผลักดันประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายค้าน อยู่ที่ท่าทีของ “ประชาธิปัตย์” ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยรายชื่อตัวแทน ประกอบด้วย บัญญัติ บรรทัดฐาน สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และยังปรากฎชื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรค  

กรอบเวลา 4 เดือนที่ “นิพิฏฐ์” ในฐานะมือกฎหมายคนสำคัญของพรรค จะเข้าไปร่วมศึกษาถึงผลกระทบ ทั้งข้อดีและข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเมื่อ 17 ก.พ.2562 เขาเคยให้ความเห็นสนับสนุน ให้เรียนรู้บทเรียนจากอดีต ที่เคยมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ แต่นำไปสู่ความขัดแย้งและการยึดอำนาจตามมา แต่สิ่งไหนดี จะคงไว้ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาแล้ว

“นิพิฏฐ์” ที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ อีกครั้ง กับการตั้งต้นปลดล็อค แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไปได้ยากมาก บอกว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นหลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะในโลกนี้หากมีรัฐไหน ประเทศไหน หรือสังคมไหนก็ตามที่มีความขัดแย้ง จะแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการตั้งกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยกติกานั้นคือรัฐธรรมนูญ เมื่อตั้งกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ความขัดแย้งจะจบ จึงเป็นระบบแบบนี้ที่เกิดขึ้นทั้งโลก เพียงแต่ประเทศไทยจะยากกว่าประเทศอื่นตรงที่ว่า หากมีการพูดรัฐธรรมนูญตัวรัฐธรรมนูญ กลับเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ยุติความขัดแย้ง 

ลองเปรียบเทียบว่า เวลาใครพูดถึงรัฐธรรมนูญ เราจะขัดแย้งตั้งแต่เริ่มอ้าปากพูดถึงรัฐธรรมนูญทันที ซึ่งเป็นปัญหาของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นในโลก

ก่อนหน้านี้วันที่ 27 พ.ย.2562 “นิพิฏฐ์” เคยแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเหมือนระเบิดเวลา” โดยมองไปที่รัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทย คล้ายระเบิดเวลา แต่ต่างกันที่ระเบิดเวลาทั่วไปเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้จะระเบิดออกมา แต่รัฐธรรมนูญของไทยภายในเวลาที่ตั้งไว้ห้ามเข้าไปยุ่ง ห้ามเข้าไปแตะ ห้ามแก้ไขอะไรทั้งนั้น คล้ายกับผู้ออกแบบออกแบบให้รัฐธรรมนูญมีระบบป้องกันตัวเองหากเข้าไปแตะ หรือเข้าไปแก้ไขภายในเวลาที่ตั้งไว้ ก็อาจจะระเบิดออกมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงนับว่ายาก เพราะเหมือนถูกวางระเบิดเวลาไว้ โดยผู้วางคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์

ผมว่า ตอนนี้ท่านมีชัยก็คงแอบดูอยู่ในหลุมหลบภัย ว่าหากเราเข้าไปแตะระเบิดลูกนี้ จะระเบิดโดนใครตายบ้าง ผมก็เสียวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะมีชื่อเป็นผู้เข้าไปแก้ระเบิดเวลาลูกนี้ด้วย

“นิพิฏฐ์” ย้อนไปถึงเคยทำหน้าที่ใน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาตลอด 30 ปี ทำให้เห็นปัญหาประเทศมา 30 ปีแล้ว ดังนั้นต้องทำอย่างไร เพื่อทำให้ กมธ.ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เราต้องมายุติความขัดแย้ง โดยวางกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีใครได้ 100% จะมีส่วนหนึ่งที่ต้องเสียสละ เพราะหากใครได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 100% รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดี เพราะตามหลักที่ว่าสังคมประชาธิปไตยไม่มีใครได้ 100% แต่หากใครได้ 100% แสดงว่าสังคมนั้นเป็นสังคมเผด็จการ

ถามถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกัน ต้องเดินหน้าแก้ไข “นิพิฏฐ์” ชี้ให้เห็นถึงวิธีการแก้ให้ง่าย เพระขณะนี้สามารถพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เกือบจะแก้ไขไม่ได้เลย ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้จะถือว่าประเทศล้มเหลว สังคมจะขัดไปแย้งกันต่อไป ดังนั้นในขณะที่ กมธ.เริ่มศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรับฟังเสียง “ประชาชนควบคู่กันไปด้วย กมธ.ชุดนี้อาจจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า กมธ.ชุดอื่น เพื่อให้ผู้ที่เป็น กมธ.เดินไปตามความต้องการของประชาชน ด้วยการรับฟังประชาชน

หากการศึกษาของ กมธ.พบว่ามีประเด็นสำคัญ ถ้าจะมาตัดสินจาก กมธ.แค่ 49 คนคงไม่ได้ เพราะต้องไปฟังประชาชน อาจตั้งทีมเข้าไปรับฟังประชาชนทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือมีประชาชนคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร หรือภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ตะวันออก กรุงเทพฯ เขาคิดเห็นกันอย่างไร 

นอกจากการรับฟังแล้ว อาจตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางไปสำรวจความเห็นของประชาชนเพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการบีบ กมธ.ชุดนี้ว่า อย่าทำอะไรที่นอกเหนือความต้องการของประชาชน เพราะคนข้างนอก กมธ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เขาคิดเห็นต่อประเด็นนั้นไว้อย่างไร

สำหรับปลายทาง กมธ.ชุดนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริงหรือไม่ “นิพิฏฐ์” ยอมรับว่า ต้องมีความหวัง ส่วนจะกระทบกับกรอบเวลาพิจารณาใน 120 วัน หรือไม่นั้น เขามองว่าสามารถขยายเวลาได้แต่ที่ต้องกำหนดเวลาไว้ 120 วัน เป็นเพราะข้อบังคับของสภาฯ ว่าเมื่อมอบ กมธ.ชุดใดชุดหนึ่งไปทำหน้าที่จะต้องกำหนดกรอบเวลาไว้

ขณะที่รายชื่อ กมธ.ทั้ง 49 คนซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันชัดเจน “นิพิฏฐ์” ประเมินการทำงานร่วมกันว่า "หากมีกรรมาธิการพกคำตอบมาจากบ้านแล้ว จะไม่มีทางที่จะคุยกันหรือออกรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาได้ เพราะคำตอบต้องอยู่ในที่ประชุมที่ผ่านการฟังเสียงของประชาชน ผมคิดว่าต้องละลายธง แล้วมาฟังกันด้วยเหตุผล อย่ามีธงไปประชุม เพราะถ้ามีธงไปมันก็ไม่จบ

“สมชัย” ไขที่มาโควตา “เสรีรวมไทย” 

“ขอบคุณท่านเสรีพิศุทธ์ และพรรคเสรีรวมไทย ที่เห็นความตั้งใจของผม ในการเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบมาอย่างพิกลพิการ ที่ร่างตามความปรารถนาของคนบางคนเพียงมุ่งหวังประโยชน์ในการครองอำนาจทางการเมือง มากกว่าจะให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พรรคเสรีรวมไทยมีโควตาเพียง 1 ที่นั่ง แต่ท่านเสียสละยอมให้ผมใช้โควตาดังกล่าว ขอรับรองว่า 1 เสียงนี้จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่ครับ”

ถ้อยคำแรกจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากรอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ออกมาโพสต์เฟซบุ๊คภายหลังที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีชื่อ “สมชัย” เป็นหนึ่ง 1 ใน 49 กมธ. จากโควตาพรรคเสรีรวมไทย ไปทำหน้าที่

ถือเป็นอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ทางการเมือง หลังจบเส้นทางเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ทำให้“สมชัย” หายไปจากหน้าสื่อจากบทบาท “คอมเมนเตเตอร์” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะหากยังจำกันได้ เขาเคยแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อ 12 พ.ย.2562 เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปตามที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยออกแบบนั่งร้านแห่งนี้ไว้ ไม่เป็นอารยะ เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างกลไกหลายชั้น จนยากต่อการแก้ไข

วันนี้ “สมชัย” เปิดเผยถึงที่มาในโควตาพรรคเสรีรวมไทยส่งไปทำหน้าที่สำคัญ จุดเริ่มต้นมาจากการร่วมงานกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ หลายเรื่อง อาทิ การถูกเชิญเข้าไปให้ข้อมูลตรวจสอบคุณวุฒิของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ผ่านการประชุมของ กมธ.ชุดนี้ 2-3 ครั้ง จึงได้รู้จักกัน 

ต่อมา18 ธ.ค.2562 พล.ต.อ.เสรีศุทธ์ ได้เชิญ“สมชัย” ร่วมประชุม กมธ.ชุดนี้อีกครั้ง กรณีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งทางไลน์ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเผยแพร่เอกสารที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ แต่ตัวเองได้ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่า ในเอกสารที่ 1 และ 2 เป็นเอกสารที่เป็นวิชาการไม่ได้ทำให้เกิดความเอนเอียงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยกเว้นชิ้นที่ 3 ที่ส่งไปเป็นพาวเวอร์พอยต์ที่มอบให้ลูกน้อง พบว่ามีโลโก้ของพรรคพลังประชารัฐเต็มๆ ในทุกสไลด์ ซึ่งตนก็บอกไปว่าแบบนี้ผิด ดังนั้นเวลาที่ให้ความเห็นอะไรไปไม่ได้ตะแคงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อะไรถูกก็ถูก อะไรผิดก็ผิด

157676733632

“สมชัย” ยอมรับว่าจากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นระยะ หากจะเป็น กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ พล.ต.อ.เสรีศุทธ์ อาจมองว่าตนเคยพูดเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอด ว่ามีปัญหาตั้งแต่ตอนร่าง ช่วงการเลือกตั้งไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง มีเรื่องใหญ่เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผิดเพี้ยนไป หรือแม้แต่ภาวะเสียงปริ่มน้ำในปัจจุบัน ก็มาจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ตัวเองเคยแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ ในเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งต่อพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

“ปัญหาของรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายค้านเพียงฝ่ายเดียว แต่รัฐบาลก็เจอปัญหาสารพัด เมื่อต้องประชุมในสภาฯ ต้องระดมคนมานั่งเช็คเสียงจะปริ่มน้ำหรือไม่ ทำให้คิดว่า การแสดงความเห็นเหล่านี้ อาจจะใช้คำว่าได้รับความไว้วางใจจากท่านเสรีพิศุทธ์ในจุดยืนที่แสดงต่อสาธารณะ ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ถามถึงประสบการณ์ในฐานะอดีต กกต.ที่เคยปฏิบัติตามกฎหมายในรัฐธรรมนูญ จะนำประสบการณ์มาทำหน้าที่ครั้งใหม่อย่างไร “สมชัยชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วตัวเขาเองมี 4 สถานะด้วยซ้ำ ตั้งแต่ 1.อดีต กกต. 2.อดีตผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. 3.เคยอยู่ในองค์กรเอกชนที่สังเกตการเลือกตั้งมายาวนานกว่า 20 ปี และ 4.นักวิชาการ ดังนั้นภายใต้ประสบการณ์ที่มีอยู่ จะมองความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่มีความฝัน ไม่จินตนาการ หรืออยู่บนหอคอยงาช้าง ถึงแม้จะเป็น 1 ใน 49 เสียงแต่ยืนยันจะทำให้เต็มที่ ขณะที่รายชื่อ กมธ.ทั้ง 49 คนที่ออกมานั้น ต้องเรียกว่าคือ “สงคราม” ที่คัดตัวแม่ทัพที่พร้อมมาต่อสู้กันในเวที กมธ.ชุดนี้ เรียกได้ว่าทุกฝ่ายคัดคนกันมาเต็มที่ต้องถือว่าเป็นมหาศึกอันยิ่งใหญ่

แต่สิ่งที่อยากเรียกร้อง ณ วันที่เป็น กมธ.วิสามัญฯ ให้นำพรรคการเมืองออกไปก่อนได้หรือไม่ เพื่อยึดผลประโยชน์บ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ไม่อยากให้คิดว่าร่างมาแล้วใครได้ประโยชน์ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วใครได้ประโยชน์ แต่ขอให้นึกถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อลูกหลานในอนาคตจะดีกว่าหรือไม่ โดยนำหลักการของบ้านเมืองมาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อพิจารณา ถ้าคิดว่าอยู่ฝั่งไหนต้องพูดตามฝั่งนั้น สุดท้ายจะไปไม่รอด