‘อควา’ เล็งซื้อหุ้นคืน ห่วงราคาไม่สะท้อนพื้นฐาน

 ‘อควา’ เล็งซื้อหุ้นคืน ห่วงราคาไม่สะท้อนพื้นฐาน

อัตราส่วนทางการเงินพื้นฐานที่ใช้วัดความถูกหรือแพงของมูลค่าหุ้นอย่างหนึ่งคือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือค่า P/E รวมไปถึงอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี หรือค่า P/BV

ทั้งสองอัตราส่วนนี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่นักลงทุนใช้ประเมินมูลค่าในเบื้องต้น ซึ่งค่าของทั้งสองตัวนี้ ยิ่งน้อยจะยิ่งสะท้อนว่าราคาหุ้นมีราคาถูก

สำหรับหุ้น บริษัท อควา คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ปัจจุบันมีค่า P/E เพียง 4.5 เท่า ขณะที่ค่า P/BV อยู่ที่เพียง 0.45 เท่า สะท้อนว่าราคาหุ้นขณะนี้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีไปแล้ว

อารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AQUA ระบุว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มมีคำถามจากผู้ถือหุ้นถึงโอกาสที่บริษัทจะใช้เป็นโอกาสในการซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันแม้บริษัทจะต้องเสียกระแสเงินสดไปส่วนหนึ่ง แต่หากผลประกอบการยังคงทำได้ดีอย่างที่ผ่านมา เชื่อว่าราคาหุ้นจะค่อยๆ สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงออกมาได้เอง และจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในอนาคต

“แผนการซื้อหุ้นคืนเป็นหนึ่งในวิธีการที่บริษัทกำลังพิจารณาว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจะมีการตัดสินอีกครั้งผ่านการประชุมกรรมการบริหารช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า”

...แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือเรื่องของพื้นฐานบริษัท

ปัจจุบันธุรกิจของ AQUA แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สื่อโฆษณานอกบ้าน คลังสินค้า และโรงไฟฟ้า โดยสัดส่วนกำไรปัจจุบันมาจาก ป้ายโฆษณา 40% คลังสินค้า 35% และโรงไฟฟ้า 25% ส่วนอนาคตคาดว่าสัดส่วนจะปรับเป็นป้ายโฆษณา 35% โรงไฟฟ้า 35% และคลังสินค้า 25%

"ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน" ยังถือเป็นธุรกิจชูโรงของ AQUA ที่จะช่วยสร้างการเติบโตในอนาคต ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายป้ายโฆษณาดิจิทัลอีกราว 20-30 จุด ในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่รวม 400 จุด ทำให้รายได้ของธุรกิจโฆษณจะเติบโตได้ต่อเนื่องอีก 20% ในปีหน้า หลังจากเติบโตราว 20% ในปีนี้

“แนวทางการเติบโตของธุรกิจโฆษณาจะเป็นไปในเชิงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและผลิตคอนเทนท์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น หลังจากที่บริษัทใช้เวลาในช่วงที่ผ่านมาเพื่อขยายจุดให้บริการที่ครอบคลุมในพื้นที่สำคัญแล้ว เพราะฉะนั้นในปีหน้าจะใช้เงินลงทุนอีกแค่ประมาณ 50 ล้านบาท เท่านั้น และปัจจุบันอัตราการใช้บริการป้ายโฆษณาทั้งหมดยังอยู่ที่เพียง 70% ในปีหน้าก็น่าจะขึ้นไปถึงระดับ 85-90%”

ในส่วนของ "ธุรกิจคลังสินค้า" เป็นเหมือนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเข้ามาให้กับบริษัท โดยมากแล้วจะมีสัญญาระยะยาว 20-30 ปี ซึ่งจะช่วยให้รายได้ของบริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น สำหรับปีหน้าบริษัทน่าจะใช้เงินลงทุนอีกราว 300-400 ล้านบาท เพื่อซื้อคลังสินค้าที่ดำเนินการอยู่แล้วจากลูกค้า และปล่อยให้เช่าในระยะยาว ซึ่งผลตอบแทนที่บริษัทต้องการจากเงินลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

ส่วน "ธุรกิจโรงไฟฟ้า" เป็นการลงทุนผ่านบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 40% ปัจจุบัน EPCO สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ปีละกว่า 300 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ ซึ่ง AQUA จะได้รับกำไรเป็นเงินสดเข้ามาตามสัดส่วนที่ถือหุ้น

แนวทางการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าของ EPCO จะเน้นพัฒนาโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ (Greenfield) หลังจากนั้นหากมีโอกาสจะขายออกไปเพื่อรับกระแสเงินสดเข้ามาลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการขายโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาเองตั้งแต่ต้น จะทำให้บริษัทได้รับกำไรค่อนข้างมาก

“ที่่ผ่านมา EPCO เคยขายโรงไฟฟ้าที่เวียดนามไป 1 โครงการ ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 700 กว่าล้านบาท แต่ส่งต่อไปในราคา 1.2 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี ในเวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ปีครึ่ง”

อารักษ์ หัวเรือใหญ่ของ AQUA ทิ้งท้ายว่า ส่วนหนึ่งที่ราคาหุ้นยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่า อาจจะเป็นเพราะกำไรสุทธิโดยภาพรวมที่ลดลงมาในปี 2561 ที่ทำได้ 390 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ซึ่งทำได้ 486 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจากปี 2560 บริษัทมีกำไรพิเศษราว 200 ล้านบาท จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินใหม่ ส่วนในปีนี้ผลประกอบการของบริษัทน่าจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ เนื่องจากการขายโรงไฟฟ้าที่น่าจะส่งกำไรกลับมาให้บริษัทได้ราว 300 ล้านบาท