ยักษ์เน็ตเวิร์คหนุน 5จี ไทยดึงเงินลงทุน เพิ่มแต้มต่อประเทศ

ยักษ์เน็ตเวิร์คหนุน 5จี ไทยดึงเงินลงทุน เพิ่มแต้มต่อประเทศ

"หัวเว่ย“ ชี้เปิดทางความสำเร็จยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ”ซิสโก้“ เผยสร้างประโยชน์หลากหลายมิติ แนะเลือกใช้ให้ตรงกับโจทย์ธุรกิจ ”อีริคสัน" ประเมินผู้บริโภคไทยพร้อมจ่ายเพิ่ม หากล่าช้ามีโอกาสฉุดการพัฒนาประเทศ

ยักษ์เน็ตเวิร์คโลก ร่วมหนุนประเทศไทยแจ้งเกิดเทคโนโลยี 5 จี "หัวเว่ย“ ชี้เปิดทางความสำเร็จยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ”ซิสโก้“ เผยสร้างประโยชน์หลากหลายมิติ แนะเลือกใช้ให้ตรงกับโจทย์ธุรกิจ ”อีริคสัน" ประเมินผู้บริโภคไทยพร้อมจ่ายเพิ่ม หากล่าช้ามีโอกาสฉุดการพัฒนาประเทศ

ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายระดับโลกที่สนับสนุนเทคโนโลยี 5จี ทั้ง อีรีคสัน หัวเว่ย และซิสโก้ มองว่า 5จี จะเข้ามาช่วยยกระดับในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ รวมถึงภาคการศึกษา และการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูง หากต้องได้รับการผลักดันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง    

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่โลกที่มีความชาญฉลาด โดยมีเทคโนโลยีไอซีทีเป็นตัวช่วยเปิดโอกาสด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ทั้งนี้การจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจำต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ อุตสาหกรรม และประชาชน

เขากล่าวว่า การผลักดัน 5จี ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำคัญมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการลงทุน มีการบริหารจัดการคลื่นและการทำราคาอย่างเหมาะสม การสนับสนุนด้านภาษี รวมถึงการพัฒนาและลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์ที่สอดรับกับการพัฒนาเพื่อใช้งาน

5จีดันไทยก้าวสู่แถวหน้าอาเซียน

สำหรับประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับ มีส่วนสำคัญต่อการเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การสร้างความสำเร็จของ 5 จี ภายใต้การพัฒนานวัตกรรมและความร่วมมือทางธุรกิจ ทั้งจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหรรมการเงินของประเทศก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ภาคประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมๆ ไปกับคว้าโอกาสที่มาจากดิจิทัล

ข้อมูลระบุว่า ทุก 1 ดอลลาร์ของการลงทุนด้านไอซีที จะสร้างผลกระทบต่อจีดีพีประเทศได้ 20 ดอลลาร์ ประเมินขณะนี้กล่าวได้ว่า 5 จีมาเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ มีผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 60 รายใน 20 ประเทศเริ่มมจุดพลุบริการเชิงพาณิชย์ ด้านราคาค่อยๆ ปรับลดลงโดยมีดีไวซ์รองรับแล้วกว่า 180 ล้านเครื่อง เบื้องต้นจากตัวอย่างในเกาหลีใต้ที่เริ่มให้บริการแล้วเชิงพาณิชย์ พบว่าผู้บริโภคต่างเปิดรับที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่หลีกเลี่ยงได้ยากหนีไม่พ้นประเด็นการจัดคลื่นความถี่ดังที่ผู้ให้บริการหลายเครือข่ายรายได้กล่าวถึงและรู้สึกกังวล ทั้งยังมีการลงทุนสถานีฐานที่อาจมีต้นทุนสูงต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วนและมีหนึ่งในทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีในการแก้ปัญหาคือโมเดลอินฟราสตรักเจอร์แชรริ่ง อีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามคือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อทำให้การใช้งานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

อุตฯผลิต-เกษตร-โลจิสติกส์ได้ปย.

ด้านนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในสนาม 5 จี ในหลายประเทศได้เห็นว่ามีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ที่ได้อย่างแน่นอนคือการยกระดับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม จากประสบการณ์พบว่ากรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการปรับใช้สำหรับบีทูซีโดยการผสมผสานนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที)มาใช้

นอกจากนี้ มีการนำวีอาร์และ 5จี มาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษา ยกระดับภาคการผลิต พัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงการแพทย์ทางไกล และอีกโครงการที่น่าสนใจซิสโก้ได้ร่วมมือกับ 15 หน่วยงานในประเทศอังกฤษ จัดทำโครงการด้านการท่องเที่ยว การเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร การพัฒนาบุคลากรเพื่อทำให้ผลิตผลสูงขึ้น ฯลฯ

"ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีทั้งหมด แต่ให้เลือกที่ตรงกับโจทย์การใช้งานของตนเองมากที่สุด ขณะนี้ในระดับโลกที่เริ่มเกิดขึ้นได้เห็นการปรับใช้ทั้งแบบเฉพาะทางรวมถึงการใช้งานที่เป็นลักษณะเมนสตรีม ที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่มักเกี่ยวข้องและมีการนำมาใช้งานควบคู่กันกับ 5จี ประกอบด้วย เออาร์ วีอาร์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และไอโอที ส่วนว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาปรับใช้บ้างจะขึ้นอยู่กับยูสเคสของแต่ละอุตสาหกรรม"

ซิสโก้ระบุว่า เซ็กเตอร์ที่เป็นกุญแจสำคัญระดับอาเซียนคือการผลิต การขนส่ง และภาคการเกษตร โดยการนำมาผสมผสานร่วมกับไอโอที เอไอ หุ่นยนต์ ส่วนในไทยจากการสำรวจที่ต้องการนำมาปรับใช้มากที่สุดคือด้านการเกษตร การขนส่ง การท่องเที่ยงและค้าปลีก การผลิต รวมถึงสาธารณูปโภคและการก่อสร้าง

“5จี ไม่ใช่แค่คลื่นวิทยุใหม่ๆ แต่มีขีดความสามารถในหลากหลายมิติที่เอื้อให้การจัดการเครือข่ายทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามระหว่างเส้นทางการพัฒนาคือการรักษาความปลอดภัยเพื่อการใช้งานที่ยังยืนในอนาคต”

คาดปี68 ผู้ใช้ 5จีแตะ2.6พันล้านราย

นางนาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายในสิ้นปี 2568 ยอดผู้ใช้ 5จี ทั่วโลกจะทะยานขึ้นไปแตะ 2.6 พันล้านราย จากปัจจุบันที่ทั่วโลกมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 8 พันล้านราย โดยเฉลี่ยผู้บริโภคใช้เวลาบนโมบายมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน วันนี้ต้องยอมรับว่าการเชื่อมต่อสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมและการใช้ชีวิตของผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทย ผู้บริโภครายย่อย เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพอย่างมากในการขับเคลื่อนตลาด เนื่องจากผลสำรวจที่ระบุว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยจะเปลี่ยนผู้ให้บริการมือถือภายใน 6 เดือน หากผู้ให้บริการเดิมที่ใช้อยู่ไม่เปิดบริการ 5จี และผู้บริโภคในประเทศไทยยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม 30% เพื่อใช้บริการ 5จีที่ตอบโจทย์

เธอกล่าวว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านเฮลธ์แคร์ระดับภูมิภาค 5จีจะมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มรายได้ให้กับหลากหลายอุตสากรรม ทว่าหากมาช้าจนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาภายในประเทศ ด้วยประเทศที่มีก่อนย่อมเดินไปข้างหน้าได้เร็วกว่า นักลงทุนให้ความสนใจ อีกทางหนึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

จากการคาดการณ์รูปแบบการใช้งานในอนาคตของผู้บริโภคในไทยพบด้วยว่า ปริมาณการใช้งานข้อมูลบนมือถือที่รองรับ 5จี โดยเฉลี่ยจะเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า ไปเป็น 70 กิกะไบท์ต่อเดือน โดยผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างจริงจังจะมีการใช้งานข้อมูลบนเครือข่าย 5จี มากถึง 130 กิกะไบท์ต่อเดือนภายในปี 2568 โดยบริการที่สนใจใช้งานเช่น โฮโลกราฟิก3มิติ เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะเกมมิ่ง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ชอปปิง รวมถึงใช้งานภายในรถยนต์ 

อีริคสันชี้ว่า 5จี กำลังจะเข้ามายกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคโดยเฉพาะเออาร์และวีอาร์ จากผลวิจัยประมาณ 76% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยเชื่อว่า แว่นเออาร์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายภายในปี 2568 และคาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อดูวีดิโอบนมือถือและอุปกรณ์พกพา ซึ่ง 1 ใน 3 ชั่วโมงนี้ จะเป็นการใช้งานผ่านอุปกรณ์แว่นเออาร์และวีอาร์นั่นเอง

นอกจากนี้ ประมาณ 88% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อว่าพวกเขาจะสื่อสารทางโทรศัพท์ในแบบโฮโลแกรม 3 มิติ เป็นประจำทุกสัปดาห์ ขณะที่ราว 13% คาดว่าการโทรศัพท์สนทนาแบบวีดิโอคอลล์จะถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารแบบโฮโลแกรม 3 มิติอย่างสิ้นเชิง และ 86% เห็นว่าเกมคอนโซลจะล้าสมัยสมาร์ทโฟนจะมาแทนที่ในไม่ช้าและกลายมาเป็นเกมคอนโซลใหม่ในที่สุด