ส่อง '5 สินค้า' ซื้อออนไลน์ได้ราคาถูกกว่าหน้าร้าน

ส่อง '5 สินค้า' ซื้อออนไลน์ได้ราคาถูกกว่าหน้าร้าน

ผลสำรวจล่าสุดของ “ไพรซ์ซ่า” เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้า พบว่า ในปีนี้มีสินค้า 5 ประเภทที่ราคาขายในออนไลน์ถูกกว่าราคาขายหน้าร้าน หนึ่งในปัจจัยหลักมาจากการแข่งขันโปรโมชั่นและการแจกโค้ดส่วนลดของผู้ค้าออนไลน์

การซื้อสินค้าออนไลน์ ในปี 2562 ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นจากปีที่แล้ว ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความสะดวกสบายในชอปปิงที่มากกว่าเดิม ทั้งการจ่ายเงินที่ทำได้หลายช่องทางมากขึ้น เช่น การจ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ท) การจัดส่งที่เร็วขึ้น เช่น บริการจัดส่งในวันเดียว หรือการที่สามารถซื้อสินค้าได้ราคาถูกกว่าการไปซื้อเองที่หน้าร้าน

จากการสุ่มสำรวจอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าบางประเภทในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2562 บน "ไพรซ์ซ่า" (Priceza.com) เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้า ซึ่งล่าสุดได้เปรียบเทียบกับราคาขายในร้านค้าปลีกและร้านค้าเฉพาะอย่างบางแห่ง พบว่า มีสินค้า 5 ประเภทที่ราคาในออนไลน์ถูกกว่าในร้านค้าแบบดั้งเดิมดังต่อไปนี้

  • สมาร์ทโฟน

หากไม่นับรวมโปรโมชั่นซื้อเครื่องพร้อมติดแพ็คเกจค่าบริการรายเดือนจากผู้ให้บริการเครือข่ายการซื้อมือถือออนไลน์จะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อที่หน้าร้านพอสมควร บางรุ่นที่เปิดตัวใหม่อาจขายถูกกว่ากันถึง 20% อีกทั้งราคาตลาดในช่องทางออนไลน์จะลงมาเร็วกว่า โดยจากสถิติมือถือแทบทุกรุ่นนอกจากไอโฟน (iPhone) จะเริ่มปรับลดราคาในช่องทางออนไลน์หลังจากเริ่มวางจำหน่ายไปแล้ว 2-3 เดือน

ตัวอย่างสินค้า Oppo Reno 2F ที่เปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ราคาหน้าร้านอยู่ที่ 11,990 บาท แต่ราคาขายออนไลน์ดีที่สุดอยู่ที่ 9,600 บาท ถูกกว่ากันประมาณ 20%

  • อุปกรณ์ไอที

ในที่นี้จะหมายรวมถึง นาฬิกาอัจฉริยะ หูฟัง ลำโพง อุปกรณ์ IoT และสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ สาเหตุที่ทำให้ราคาถูกกว่า เป็นเพราะสินค้าเหล่านี้มักจะมีโค้ดส่วนลดให้ใช้ร่วมกันเยอะมาก

ตัวอย่างสินค้า Xiaomi Mi Band 4 เครื่องศูนย์ไทยที่ตอนนี้ขายใน Mi Store ไทยราคา 990 บาท แต่ใน Xiaomi Official Online ขาย 740 บาท ประหยัดไป 200 บาท

  • สินค้าแม่และเด็ก

ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป (แพมเพิร์ส) และนมผง ที่ต้องใช้ปริมาณมาก ๆ ต่อเดือน หรือ ขวดนม เครื่องปั๊มนม เสื้อผ้าเด็ก ฯลฯ ซื้อออนไลน์จะได้ราคาถูกกว่าพอสมควร อีกทั้งยังสามารถใช้โค้ดออนไลน์ไปลดเพิ่มอีก โดยเฉพาะกับยี่ห้อที่มีร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง นอกจากราคาที่ถูกกว่าแล้ว เหล่าแม่บ้าน-พ่อบ้านที่ไม่มีเวลาว่างไปซื้อของใช้ให้ลูก ๆ การซื้อออนไลน์ก็ยังตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ดังกล่าวด้วย

ตัวอย่างสินค้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป BabyLove Premium Gold Pants XL 46 ชิ้น ร้านค้าปลีกขาย 555 บาท แต่ในร้านค้าออนไลน์ขาย 490 บาท แถมส่งฟรีด้วย

  • คูปอง บัตรกำนัล บัตรเติมเงิน

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า สามารถซื้อบัตรกำนัล คูปองส่วนลดของบริการต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว ซึ่งบ่อยครั้งผู้บริโภคที่ได้คูปองเหล่านั้นมาฟรีจะเอามาลงขาย ทำให้สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าไปซื้อเอง ดังนั้น ถ้าอยากซื้อบัตรกำนัล คูปองส่วนลด เป็นของขวัญเนื่องในโอกาสพิเศษ หรือเอามาแจกรางวัลในกิจกรรมพิเศษ การซื้อออนไลน์จะคุ้มกว่าอย่างแน่นอน

ตัวอย่างสินค้า บัตรสตาร์บัคส์ บัตรดูหนัง บัตรกำนัล Gift Voucher Central

  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (สกินแคร์)

เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวตัวโปรดที่ใช้ประจำ ไม่ว่าจะเป็น เซรั่ม ครีมกันแดด รวมไปถึงน้ำหอมโดยทั่วไปหากเป็นสกินแคร์ในเคาน์เตอร์แบรนด์ ส่วนใหญ่จะมอบส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 10-15% แต่ถ้าหากซื้อออนไลน์ ส่วนลดอาจจะพุ่งไปถึง 30-40% และหากใช้คูปองส่วนลดเพิ่มก็ยิ่งคุ้ม

ตัวอย่างสินค้า Lamer Moisturizing Soft Cream 60 ml ราคาในเคาน์เตอร์ 13,700 บาท แต่ถ้าซื้อออนไลน์ราคาจะอยู่ที่ 8,325 บาท ลดไปถึง 40%

157682382751

ทำไมซื้อสินค้าออนไลน์ถูกกว่า?

ไพรซ์ซ่าได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้สินค้าออนไลน์มีราคาถูกกว่าร้านค้าออฟไลน์ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่

1. ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มีโค้ดส่วนลด ที่สามารถใช้เพื่อลดราคาเพิ่มได้

2. โปรโมชั่นลดราคา ของร้านค้าออนไลน์จัดบ่อยกว่าร้านค้าปลีกทั่วไป เช่น โปรโมชั่นจ่ายด้วยอีวอลเล็ทจะได้ราคาถูกกว่า และโปรโมชั่นซื้อขั้นต่ำรับส่วนลด

3. แบรนด์ที่แต่ก่อนขายเฉพาะในห้าง ได้เริ่มขยายธุรกิจไปทำ Brand Shop Online ของตัวเอง หรือทำในเว็บมาร์เก็ตเพลซ อย่าง ช้อปปี้ ลาซาด้า และเจดี เซ็นทรัล นำสินค้าของตัวเองส่งตรงจากคลังไปยังผู้บริโภค ถือเป็นการลดต้นทุนการกระจายสินค้า ซึ่งผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าจัดส่งเอง

สินค้าทั้ง 5 ประเภทเหล่านี้ หากซื้อออนไลน์จะได้ราคาที่ดีกว่าซื้อที่หน้าร้าน (เฉพาะสินค้าบางรุ่นในแต่ละประเภท) ซึ่งนอกเหนือจากได้ความประหยัดคุ้มค่าแล้ว ผู้บริโภคยังได้ความสุขทางใจมากขึ้นด้วย

ไพรซ์ซ่าปิดท้ายว่า ปัจจุบัน การชอปปิงออนไลน์เป็นมากกว่ากิจกรรมที่เกิดจากความต้องการ (Need) แต่ได้กลายเป็นกิจกรรมให้ความบันเทิง (Entertainment) ไปแล้ว