ภารกิจ 5 ปีกลุ่มปตท. ภายใต้ ซีอีโอ ใหม่

ภารกิจ 5 ปีกลุ่มปตท. ภายใต้ ซีอีโอ ใหม่

ช่วงท้ายปีบริษัทจดทะเบียนเริ่มให้ภาพการเติบโตปี 2563 กันบ้างแล้วหลังจากปี 2562 ต้องฝ่ามรสุมเศรษฐกิจที่ผันผวนจากภายนอกประเทศจนกระทบไทยไปด้วย ซึ่งปัจจัยที่ยังคงกดดันธุรกิจต่อเนื่องไปถึงปีหน้ายังหนีไม่พ้นปัจจัยเดิม

          ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่มีต่อรอบ 2 กับการเจรจาเฟส 2 ช่วง ม.ค. 2563 การเจรจาออกจากลุ่มอียูของสหราชอาณาจักร ปัจจัยค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง และยังไม่นับรวมกับความกังวลใจลึกๆ ของเอกชนกับความขัดแย้งทางการเมืองในไทยอาจจะลุกลามและขยายวงกว้าง

          เมื่อหันมาดูบิ๊กคอร์ปอเรทใหญ่ในตลาดหุ้นไทย เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ต้องมาโฟกัสที่แผนปี 2563 ซึ่งรายใหญ่ที่สุดกลุ่ม ปตท . ที่ถือว่าเป็นองค์กรระดับชาติ มีการลงทุนทำธุรกิจด้านพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้เจอปัจจัยกดดันทั้งภายในและนอกประเทศไปพร้อมกัน

          ยิ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงตลาดโลกจากยุคพลังงานเก่ากลุ่มฟอสซิลไปยังพลังงานสะอาด หรือ Green Energy ทำให้กลุ่ม ปตท. ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไปพร้อมๆ กับ ภาระกิจหลักการเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานในไทยและออกมาแข่งขันในภูมิภาคได้ด้วย

           จากแผนการลงทุนตามเม็ดเงินรวมของกลุ่มปตท.ตามที่มีการคาดการณ์ตัวเลขมีโอกาสแตะที่ระดับ ล้านล้านบาท จากในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ (2558-2562) กลุ่ม ปตท. วางงบลงทุนไว้ 9.9 แสนล้านบาท 

      

 วันนี้ (19 ธ.ค.) มีการประชุมบอร์ด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อเคาะแผนลงทุน 5 ปี (2563-2567) ออกมาตามแผนเฉพาะปตท. คาดเม็ดเงินลงทุนเสนอบอร์ดอยู่ที่ 266,372 ล้านบาท

           โดยในปี 2563 ลงทุน 97,358 ล้านบาท จะเน้นขยายการลงทุนต่อเนื่องในโครงการต่างๆ เช่น New LNG Terminal มูลค่า 8,464 ล้านบาท,โครงการท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 มูลค่า 5,659 ล้านบาท,แผนงานโรงแยกก๊าซ มูลค่า 4,334 ล้านบาท,EEC@ Wangchan Valley project มูลค่า 2,075 ล้านบาท เป็นต้น

           ขณะที่บริษัทลูกที่มีสัดส่วนรายได้ใหญ่ที่สุด บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้ประกาศงบลงทุน 5 ปี (2563-2567) ออกมาเช่นกัน ตัวเลขอยู่ที่ 24,619 ล้านดอลลอร์

           โดยปี 2563 ลงทุน 4,613 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) 2,647 ล้านดอลลาร์ และรายจ่าย ดำเนินงาน (Operating Expenditure) 1,966 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณผลิต 6% ต่อปีในช่วง 5 ปี ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตผลิตเพิ่มจากปัจจุบัน 3.48 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการเน้นพัฒนาจากแหล่งที่มีการลงทุนอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ

           บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ประกาศตัวเลขลงทุน 5 ปีเช่นกัน วงเงินรวม 53,953 ล้านบาท จะเน้นโครงการลงทุนเชิงกลยุทธ์และเพิ่มมูลค่าให้บริษัท เช่น โครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ราว 7-8 พันล้านบาท โครงการผลิตอะโรเมติกส์ (Maximum Aromatics Project: MARS) และการซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ซึ่งเฉพาะปี 2563 การลงทุน กว่า 10,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ จะเป็นเงินลงทุนในปี 2563 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในโครงการที่ส่งผลต่อมาร์จิ้นของุรกิรกิจปิโตรเคมีดีขึ้น หลังที่ผ่านมาราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงไปราว 40% นั้น ทำให้โรงงานปิโตรเคมีทั่วโลกต้องลดกำลังการผลิต หรือปิดตัวลงซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตบางส่วนหายไป

            นอกจากประเด็นที่บอร์ดจะพิจาณางบลงทุนของกลุ่มปตท. แล้วอีกวาระที่ต้องติดตามคือการสรรหาซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท. จาก 6 ผู้สมัครจากผู้บริหารในกลุ่ม ซึ่งจะมีผลเข้ารับตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2563 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญช่วงหนึ่งของปตท. ที่เจอการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หรือการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างค้าปลีก เพื่อสร้างผลกำไรมากขึ้น

          ดังนั้นจึงทำให้ ซีอีโอ คนใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์ในอนาคตของทั้งกลุ่มได้ ที่สำคัญตำแหน่งนี้ยังต้องทำงานประสานกับภาครัฐได้เป็นอย่างดี ในฐานที่เป็นรัฐวิสาหกิจและผู้นำพลังงานของชาติ

157668103045