'เลขาฯศาลยุติธรรม' ชี้มีกม.ให้เพิ่มโทษใหม่หนักขึ้นกับผู้ทำผิดซ้ำได้

'เลขาฯศาลยุติธรรม' ชี้มีกม.ให้เพิ่มโทษใหม่หนักขึ้นกับผู้ทำผิดซ้ำได้

"เลขาฯศาลยุติธรรม" กาง ป.อ.มาตรา 92-93 ให้อำนาจศาลเพิ่มโทษใหม่หนักขึ้นได้ ขณะที่ อัยการ ชี้เคส "สมคิด ฆาตกรต่อเนื่อง" ต้องบรรยายฟ้องละเอียดเป็นภัยอันตราย ไม่เข็ดหลาบ พร้อมค้านประกันคดีใหม่

จากกรณี นายสมคิด พุ่มพวง ฉายา แจ๊ค เดอะริปเปอร์เมืองไทย อายุ 55 ปี ภูมิลำเนาอาศัยอยู่ภาคใต้ ฆาตกรสุดโหด ซึ่งในปี 2548 ได้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องหมอนวดสาวถึง 5 รายแถบภาคอีสาน จนกระทั่งถูกจับกุมศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต ต่อมานายสมคิดปฏิบัติตัวดีกลายเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมจนได้รับการพิจารณาลดโทษและเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำเมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 แต่นายสมคิดกลับมาก่อเหตุซ้ำฆ่าหญิงสาวอีกช่วงกลางเดือน ธ.ค.62 ที่ จ.ขอนแก่น แล้วหลบหนีไป ล่าสุดวันนี้ (18 ธ.ค.)ได้ถูกจับกุมตามหมายจับที่สถานีรถไฟ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งตำรวจเตรียมรวบรวมพยานหลักฐาน ทำสำนวนส่งอัยการดำเนินคดีต่อไป

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นข้อกฎหมายกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาซึ่งพ้นโทษคุมขังแล้วทำผิดซ้ำอีก มีผลต่อการดำเนินคดีใหม่อย่างไรว่า หากผู้ต้องคำพิพากษาที่มีโทษจำคุกถึงที่สุดกลับมากระทำผิดซ้ำอีกในการยื่นฟ้องคดี หากโจทก์ได้ระบุไว้ในคำฟ้องให้ศาลทราบถึงพฤติการณ์ดังกล่าว ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 92 บัญญัติว่า ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใดๆอีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้น 1ใน3 ของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง ซึ่งหมายความว่า หากจำเลยซึ่งเคยต้องคำพิพากษาในคดีหนึ่งมาและเคยรับโทษมาก่อนแล้วทำความผิดใหม่ซึ่งความผิดใหม่นั้นอาจจะไม่ใช่ความผิดในข้อหาเดิมที่เคยถูกลงโทษ ศาลก็สามารถพิจารณาเพิ่มโทษในความผิดใหม่ได้อีก 1 ใน 3 ซึ่งมาตรานี้เท่ากับว่าศาลไม่ได้ดูว่าความผิดเก่ากับความผิดใหม่เป็นข้อหาลักษณะเดียวกันหรือไม่

นอกจากนี้ใน ป.อ.มาตรา 93 ก็ได้บัญญัติว่า ผู้ใด ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซ้ำอีกตามที่ได้จำแนกไว้ใน อนุมาตราดังต่อไปนี้ ในระหว่างที่ยังต้องรับโทษก็ดี หรือภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิดซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยการ 6 เดือนหากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุกก็ให้เพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง ซึ่งความผิดในอนุมาตราที่กล่าวถึงในกฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 13 ข้อโดยบัญญัติไว้เป็น (1)-(13) ในมาตรา93  ที่มีทั้งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร , ความผิดต่อเจ้าพนักงาน , ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ , ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ในการยุติธรรม , ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม , ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน , ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน , ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา , ความผิดเกี่ยวกับการค้า , ความผิดเกี่ยวกับเพศ , ความผิดต่อชีวิต-ความผิดต่อร่างกาย-ความผิดทำให้แท้งลูก-ความผิดถอดทิ้งเด็ก คนเจ็บป่วยหรือคนชรา , ความผิดต่อเสรีภาพ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งตามมาตรา 93 นี้เท่ากับว่าหากมีการกระทำผิดซ้ำ แล้วถ้าศาลเห็นว่าเป็นความผิดเดิมที่เคยทำและถูกลงโทษจำคุกมาแล้วอันเป็นความผิดเดียวกับที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรานี้ก็สามารถใช้ดุลยพินิจเพิ่มโทษได้อีกครึ่งหนึ่งของความผิดครั้งใหม่

ส่วนการยื่นประกันตัวสำหรับผู้ที่เคยได้กระทำความผิดซ้ำนั้น ในการยื่นขอประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีใดๆ ศาลก็จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 108 ที่บัญญัติว่าในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต้องพิจารณาประกอบ (1) ความหนักเบาของข้อหา (2)พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด (3)พฤติการณ์ต่างๆแห่งคดีเป็นอย่างไร (4)เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ (6)ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหายแล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้ ขณะที่มาตรา 108 วรรคสอง บัญญัติไว้ด้วยว่าเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการพิจารณาปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่งนั้น เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาล อาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้ ดังนั้นในการจะปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นฟ้องคดีหรือไม่ก็ถือเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาในคดีนั้นๆที่จะพิจารณาตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ดังกล่าว

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ได้เปิดเผยว่า นายสมคิดเคยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันคือฆ่าเหยื่อมาแล้ว 5 ราย ซึ่งพอพ้นโทษมาก็มาทำความผิดอีก เป็นหลักเกณฑ์และหน้าที่ของอัยการ ตอนที่ยื่นฟ้องอัยการต้องบรรยายให้เห็นถึงพฤตการณ์ว่าจำเลยเป็นภัยต่อสังคม ขอให้ลงโทษสถานหนักสูงสุดเนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์ไม่เข็ดหลาบหลาบจำ หรือถ้าจำเลยรับสารภาพ ศาลก็มีสิทธิที่จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าการรับสารภาพดังกล่าวเป็นการจำนนต่อหลักฐาน หรือเป็นลักษณะที่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ซึ่งหน้าที่ของอัยการที่จะต้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดี เราจะบรรยายพฤติการณ์ให้ครบถ้วนเกี่ยวกับพฤติกรรมอันตรายของจำเลยเช่น หากมีการหลบหนี ศาลก็จะไปพิจารณาอีกครั้งว่าลดโทษให้ได้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาแม้รับสารภาพศาลก็ไม่ลดโทษให้เพราะจำนนต่อหลักฐาน

อย่างไรก็ดี หากมีการยื่นฟ้องในคดีใหม่ก็คาดว่าอัยการจะคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนีให้เห็น