สธ.เล็งจัด“วิ่งไล่ยุง” 9 ม.ค.63เกือบชน "วิ่งไล่ลุง"

สธ.เล็งจัด“วิ่งไล่ยุง” 9 ม.ค.63เกือบชน "วิ่งไล่ลุง"

“อนุทิน”โยน“สาธิต”จัด “วิ่งไล่ยุง” หลังหายป่วยชิคุนกุนยา เล็งจัดวันที่ 9 ม.ค.63 ก่อนวันเด็กแห่งชาติ เกือบชน "วิ่งไล่ลุง" หวังคนไทยใส่ใจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พาหะเกิด 3 โรค ไข้เลือดออก-ชิคุนกุนยา-ซิก้า ปี 62 พบผู้ป่วยเกือบแสนราย

         วันนี้(18 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าว “สธ.ใส่ใจคนไทย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย”ว่า ตนขอมอบหมายให้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีสปิริตสูงมาก ที่แม้ว่าเพิ่งหายป่วยจากโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ซึ่งเกิดจากยุงลาย มาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็มาทำงานแล้ว ดังนั้น ท่าน รมช.สาธารณสุข จะเป็นหัวหน้าแคมเปญ แทนที่จะไปวิ่งไล่ลุง ก็ไปวิ่งไล่ยุงกันดีกว่า เพราะวิ่งไล่ลุงไม่มีใครป่วย ลุงก็ยังอยู่ได้สบาย แต่วิ่งไล่ยุง ถ้ายุงไม่ไป พวกเราป่วยแน่
          นายสาธิต กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีการเสนอว่าควรที่จะจัดโครงการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพิ่มเติมจากมาตรการปกติที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ดำเนินการอยู่แล้ว โดยจัดเป็นโครงการวิ่งไล่ยุง เพื่อสร้างความตระหนักให้คนใส่ใจในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น เพราะยุงลายเป็นพาหะทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา และซิก้า โดยอาจจะจัดขึ้นในวันที่ 9 ม.ค.2563 แต่จะพิจารณาวันอีกครั้ง แต่ไม่น่าจะเป็นวันที่ 11ม.ค.2563 เนื่องจากเป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยตนจะเป็นคนนำวิ่งด้วยตนเอง ทั้งนี้ ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ของทุกปีเป็นช่วงเวลาทองในการรณรงค์จัดการปัญหาลูกน้ำยุงลายเป็นประจำอยู่แล้ว

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. รายงานว่า พบผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ 1ม.ค.-16 ธ.ค.2562 จำนวน 84,095 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 126.62 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.01 ต่อแสนประชากร กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 15-24 ปี(23.40 %) 10-14 ปี(22.91 %) 7-9 ปี(12.53 %) ส่วนชิคุนกุนยา พบผู้ป่วย 11,046 ราย จาก 59 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 16.63 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 0 ราย กลุ่มอายุที่พบ มากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 25-34 ปี(20.93 %) 35-44 ปี(19.17 %) 45-54 ปี(15.16 %) และซิก้า พบผู้ป่วย 268 ราย จาก 27 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 0.40 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 0 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 25-34 ปี(24.63 %) 35-44 ปี(21.64 %) 15-24 ปี(14.18 %)