ปีใหม่63เข้มมาตรการเอาผิดลงโทษสูงสุด “ผู้ขาย-ผู้ให้เด็กดื่มน้ำเมา”

ปีใหม่63เข้มมาตรการเอาผิดลงโทษสูงสุด “ผู้ขาย-ผู้ให้เด็กดื่มน้ำเมา”

มูลนิธิเมาไม่ขับเผย 10 กว่าปี สถิติเอาผิดคนขาย-คนปล่อยให้เด็กดื่มน้ำเมา 0 คดี ทั้งที่มีกฎหมาย 2 ฉบับห้าม ปีใหม่63เข้มบังคับใช้กฎหมาย สธ.สั่งรพ.รวบรวมหลักฐาน เด็กต่ำกว่า 20 ปีเกิดอุบัติเหตุ ตรวจระดับแอลกอฮอล์ทุกราย ส่งตำรวจสืบสวนเอาผิดผู้ขาย-ผู้ใหญ่

       วันนี้(18 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ พร้อมด้วยผู้บริหารสธ. ร่วมกันแถลงข่าว “สธ.ใส่ใจคนไทย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย”

         นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่ 2563 มูลนิธิเมาไม่ขับได้ร้องขอมายังกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและจริงจัง ในกรณีที่มีการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเด็กที่ดื่มจะไม่มีความผิด แต่ผู้ที่ขายให้กับเด็กจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กดื่มจะมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่ง หากมีกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ารับการรักษาจากการเกิดอุบัติเหตุให้ดำเนินการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ทุกราย เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเด็กเมาหรือไม่ และส่งหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนว่าเด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างไร เพื่อเอาผิดตามกฎหมายกับผู้ขายให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กดื่มถึงที่สุด

         “เชื่อว่าหากสามารถระงับปัญหาที่ต้นตอได้ จะทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง เนื่องจากสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เกิอบครึ่งเกิดจากการดื่มแล้วขับ ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สูงถึง 58 % พบเด็กอายุต่ำกว่า 20ปีที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สูงถึง 44 %”นายอนุทินกล่าว

          นพ.แท้จริง กล่าวว่า การห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กในประเทศไทย มีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ มาตรา 29 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่คุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมาตรา 26 (10) ซึ่งห้ามไม่ให้จําหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นตามมาตรานี้ผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กมีการดื่มสุราจะถือว่ามีความผิด โดยต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 3หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

        “ไม่น่าเชื่อแม้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีการบังคับใช้มานานกว่า 10 ปี แต่สถิติการดำเนินคดีเอาผิดกรณีผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก และกรณีผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กดื่มสุราเป็น 0 คดี แสดงว่าไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยิ่งหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้ แล้วเด็กดื่มและเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ที่ขายไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไร อย่างกรณีปี 2562 เด็กอายุ 11 ขวบเมา แล้วขี่จักรยานจนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งกรณีนี้เด็กไม่ผิด แต่ใครทำให้เด้กเมาขนาดนั้น หรือเด็กอายุ 18 ปี ไปซื้อน้ำเมามานั่งดื่ม โดยที่คนขายไม่เคยบอกว่าไม่ขาย ผิดกฎหมาย เมื่อเมาก็เกิดอุบัติเหตุ เท่ากับเด็กเป็นเหยื่อของคนทำผิดกฎหมายและไม่รับผิดชอบต่อสังคม จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาผิดตามกฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง”นพ.แท้จริงกล่าว

          พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการขยายผลให้ได้ถึงร้านที่มีการลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก รวมถึง การจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาตและจำหน่ายในเวลาที่ห้ามจำหน่ายด้วย ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจะรอหลักฐานเป็นใบตรวจระดับปริมาณแอลกอฮอล์ของเด็กที่เกิดอุบัติเหตจากรพ.ในพื้นที่แล้ว หากประชาชนมีเบาะแสในจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กหรือจำหน่ายในเวลาห้ามจำหน่าย สามารถแจ้งโทร 191 ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้จำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น.และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00น.เท่านั้น

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี2558-2562) พบว่า การดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ 24.12-43.66% ของอุบัติเหตุทั้งหมด เสียชีวติ 559 ราย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7,020 ราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่จำนวน 1,449ราย มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด 57.07 % ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด 44.32 %