'หนี้ครัวเรือน' ของไทยชะลอตัวแล้ว

'หนี้ครัวเรือน' ของไทยชะลอตัวแล้ว

นายกฯ สั่งแจงข้อมูลเศรษฐกิจประชาชนหวังดึงมีส่วนร่วม ครม.รับทราบระดับหนี้สาธารณะไทย ชะลอตัว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีบริษัท S&P Global Ratings (S&P) ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทย จากระดับมีเสถียรภาพ ขึ้นเป็นเชิงบวก ซึ่งเป็นการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยให้ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีว่า หลายคนบอกว่าไม่มีประโยชน์กับประชาชน แต่เป็นเรื่องการสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆให้เกิดความมั่นใจเกิดขึ้น ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และเกิดห่วงโซ่ไปถึงข้างล่างได้ด้วย ดังนั้นประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจในภาพรวมก่อน แล้วถึงจะมาดูว่าตัวเองจะอยู่ตรงส่วนไหน ถ้าเราไม่ชี้แจงกันแบบนี้ ข้อมูลต่างๆที่ออกมาก็ถูกขัดแย้งกันทั้งหมด ข้อมูลทุกข้อมูลเป็นประโยชน์หมด ใช้สำหรับการบริหารงานของรัฐบาลและส่วนราชการ แต่ทั้งหมดนั้นประชาชนต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อทำอย่างนี้มันเพราะอะไร เหตุผลใด เราจะช่วยเขาได้ตรงไหน ประชาชนจะมีส่วนร่วมตรงไหน เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ความเข้าใจกันมากกว่า

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (17 ธ.ค.) ที่ประชุมครม.ยังได้รับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3/2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอ โดยในประเด็นของหนี้ครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว5.8% ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 6.3% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7%ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.81 %ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงมีเพิ่มขึ้น 

 ทั้งนี้ สศช.ได้มีการรายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในส่วนต่างๆให้ ครม.รับทราบประกอบไปด้วยหนี้สินจากการซื้อที่อยู่อาศัย33.8% หนี้สินจากการซื้อรถยนต์ 12.9% ซึ่งหนี้ทั้งสองส่วนอยู่ที่ 46.7% ถือว่าเป็นหนี้ซึ่งมีหลักประกันจึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่หนี้สินส่วนบุคคลอยู่ที่ 24% หนี้สินของภาคธุรกิจและการพัฒนาอาชีพอยู่ที่ 18.6% ขณะที่หนี้จากากรศึกษาอยู่ที่ 3.1% สินจากบัตรเครดิตอยู่ที่ 3% และการส่วนหนี้สินอื่นๆอยู่ที่ 4.6% 

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบรายการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 74 ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีภายใน 45 วันหลังจากสิ้นปีงบประมาณ และให้นำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป โดยมีสาระสำคัญของผลการดำเนินงานรับจ่ายเงินงบประมาณในปี 2562 ที่สำคัญได้แก่ 1.รายรับของรัฐบาลอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาทหรือต่ำกว่าประมาณการ 1 แสนล้านบาท 2.รายจ่ายงบประมาณที่ประกอบไปด้วยรายจ่ายงบประมาณตามจริงและรายจ่ายเงินชดใช้เงินคงคลังอยู่ที่ 2.976 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.4 หมื่นล้านบาท 

3.ดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบรายได้แผ่นดินที่นำส่งคลังกับยอดรวมรายจ่ายประจำปี พบว่า รายได้แผ่นดินที่ต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.46แสนล้านบาท โดยต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และยอดรวมของรายรับต่ำกว่ารายจ่ายของงบประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท 

และ 4.ดุลการรับ - จ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบกับรายรับรายจ่ายของงบประมาณทั้งสิ้นกับรายรับและรายจ่ายทั้งสิ้นเมื่อเกิดขึ้นจริง ยอดรวมของรายจ่ายทั้งสิ้นตามงบประมาณและรายจ่ายเงินกันไว้เหลื่อมปีอยู่ที่ 3.306 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการไว้ 6.5หมื่นล้านบาท /  157658568595

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอบคุณคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อนุมัติให้ใช้ปาล์มน้ำมันมาเป็นผสมกับน้ำมัน เป็นB10ทำให้ราคาปาล์มปรับเพิ่มขึ้น เกิน5บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้อยู่ที่5.80บาทต่อกิโลกรัม ทำให้รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งคาดหวังว่า พืชเกษตรอื่นๆ จะมีราคาดีขึ้น

157660121262