ถึงเวลา‘โรเทชั่น’เงินทุน รับหุ้นแบงก์ฟื้น-โรงไฟฟ้าเจอแรงถล่ม

ถึงเวลา‘โรเทชั่น’เงินทุน  รับหุ้นแบงก์ฟื้น-โรงไฟฟ้าเจอแรงถล่ม

ช่วง 2 -3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งขึ้นลงราวกับรถไฟเหาะ สัปดาห์ก่อนดัชนีร่วงไป 30 จุด กลับมาบวก 25 จุดในสัปดาห์ถัดมา ก่อนจะร่วงกลับไปอีก 20-30 จุด โดยดัชนีวิ่งอยู่ในกรอบประมาณ 1,540 - 1,580 จุด

ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ความผันผวนที่มากขนาดนี้ เกิดจากปัจจัยอะไรเป็นหลักกันแน่?

ในมุมมองของ "วิกิจ ถิรวรรณรัตน์" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง มองว่า ความผันผวนของตลาดในเวลานี้ เป็นผลจากการหมุนเงินลงทุน (Flow rotation) จนเกิดการสลับขึ้นของหุ้นกลุ่มวัฏจักรและหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับการสลับลงของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า รวมถึงหุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานตัวอื่นๆ 

ปัจจุบัน ธีมการลงทุนเปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นในกลุ่มวัฏจักรเริ่มปรับตัวได้ดีกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์( SET) ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ถูกขายออกมาอย่างต่อเนื่องจนมูลค่าหุ้นลดลงมาค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในภูมิภาคแล้วก็ต่ำกว่าค่อนข้างมาก

“ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะดัชนีภาคการผลิต (PMI) ที่ดีขึ้นจากทั้งยุโรป สหรัฐ และจีน ทำให้หุ้นในกลุ่มวัฏจักรและธนาคารพาณิชย์ซึ่งถูกขายมาต่อเนื่อง เริ่มมีแรงซื้อกลับ พร้อมๆ กับการขายหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภคที่ขึ้นมาต่อเนื่องก่อนหน้า และแนวโน้มของหุ้นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจภาพรวมเหล่านี้จะยังแข็งแกร่งกว่าตลาดต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคก็น่าอ่อนแอกว่าตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้”

ทั้งนี้ ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งพุ่งขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบมจ.บี.กริม พาวเวอร์ (BGRIM) ต่างปรับตัวลดลงมาราว 8-12%

ขณะที่หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งถูกเทขายออกมาก่อนหน้านี้ สามารถปรับตัวขึ้นได้ราว 2-3% ในช่วงไตรมาส 4 นี้ ขณะที่ดัชนี SET ติดลบไปกว่า 5% ส่วนกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวขึ้นมากว่า 7%

สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีแรงซื้อกลับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยดัชนีของกลุ่มฟื้นตัวจากราว 420 จุด ไปแตะระดับ 450 จุด ก่อนจะถูกแรงขายกดลงมาอยู่ที่บริเวณ 430 จุด ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งประกาศเข้าซื้อกิจการธนาคารในอินโดนีเซีย จนราคาหุ้นร่วง 10% ภายใน 3 วัน

ขณะที่ "บล.เอเซียพลัส" มองว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยยังอาจขาดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาหนุนอีกซักระยะ จากประเด็นการเมืองที่มีความร้อนแรงเพิ่มขึ้น สังเกตได้จาก ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ช่วง 2 สัปดาห์แรกอยู่ที่เพียง 6 พันล้านบาทเท่านั้น ขณะที่สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท 

โดย ณ ปัจจุบันเข้าสู่ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี ยังคงหวังแรงหนุนจากสถาบันน่าจะเร่งกลับมาซื้อหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ที่แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย มีการเร่งซื้อหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และ มีโอกาสสูงที่จะเกิดการทำ Window Dressing ในช่วงท้ายของปี

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองหุ้นที่นักลงทุนสถาบันนิยมซื้อสะสมในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และราคาหุ้นมักจะโดดเด่นกว่าตลาดได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับหุ้นเด่นของฝ่ายวิจัย ได้แก่ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) และบมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่มีสัดส่วนในกองทุน LTF เช่นกัน และที่สำคัญสถิติในอดีตยังบ่งชี้ว่า ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี หุ้นทั้ง 2 บริษัท ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยชนะตลาดทั้งสิ้น