เปิดยื่น 'โรงไฟฟ้าชุมชน' มี.ค.63 กพช.เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมก

เปิดยื่น 'โรงไฟฟ้าชุมชน' มี.ค.63 กพช.เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมก

กพช.อนุมัติเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน รับซื้อ 700 เมกะวัตต์ ปี 2563-2565 อัตรา 3.7-5.3 บาท/หน่วย รัฐจับมือเอกชนร่วมถือหุ้นได้ 60-90% เปิดยื่นข้อเสนอ มี.ค.-เม.ย.นี้ เม็ดเงินหมุนเวียน 7 หมื่นล้านบาท มอบ กกพ.ศึกษาโครงสร้างค่าไฟรองรับรถอีวี

กระทรวงพลังงานเร่งการขับเคลื่อนนโยบาย "Energy For All" หรือพลังงานเพื่อทุกคน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าหมุนเวียนและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วานนี้ (16 ธ.ค.)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กพช.เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 4 ธ.ค.2562 

โดยรับซื้อไฟฟ้าใน 4 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) และ 4.เชื้อเพลิงไฮบริดจาก 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเพื่อคัดเลือกโครงการ ตลอดจนกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

157656094437

  • เริ่มรับซื้อเดือน มี.ค.63

ส่วนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะเป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดให้ยื่นเสนอโครงการ โดยในปี 2563-2565 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มรับซื้อในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 แบ่งออกเป็น 2 ประเภทโครงการ คือ

1.โครงการ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ เช่น โครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 2 พื้นที่ 3 โครงการ ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งขณะนี้ยังมีโครงการของภาคเอกชนรายอื่นด้วย

2.โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไปและอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงพลังงานจะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจากนั้นจึงจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการทั่วไป

  • เงินหมุนเวียน 7 หมื่นล้าน

"คาดว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือ 7 หมื่นล้านบาท" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วน 60-90% และ 2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วน 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน "พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น" ของโรงไฟฟ้านั้นๆ 

โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริดไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

157656074557

  • เชื้อเพลิงชีวภาพราคาสูงสุด

สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้า 4 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช. ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ.2560 ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.2636 บาทต่อหน่วย ,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.76 บาทต่อหน่วย ,ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท และก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสียของเสีย 4.7269 บาทต่อหน่วย 

รวมทั้ง กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พรีเมียมให้กับพื้นที่พิเศษในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

ภายใต้เงื่อนไขผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (คอนแทรค ฟาร์มมิง) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

  • สั่ง กกพ.ศึกษาสถานีชาร์จ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช. ยังมอบหมายให้ กกพ.ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ซึ่งแยกการคำนวณออกจากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเดิมที่อ้างอิงฐานการใช้ของภาคอุตสาหกรรม 

โดยคำนึงถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และนำไปสู่เป้าหมายการปรับลดใช้บริการรถไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีกำหนดต้องศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน รวมทั้งนำมาเสนอในการประชุม กพช.พิจารณาครั้งต่อไป

  • เลิกนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ กพช.ยังมีมติให้ยกเลิกผลการเปิดประมูลและจัดหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของ กฟผ.ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี แต่จะต้องไปพิจารณาต่อในด้านของกฎหมายจะขัดต่อ พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฯหรือไม่ หรืออาจจะขอเลื่อนระยะเวลานำเข้าแอลเอ็นจี ออกไปจากแผนเดิม โดยให้ กฟผ.ไปศึกษารายละเอียดต่อ

ส่วนการจัดหาแอลเอ็นจีของ กฟผ.ในรูปแบบตลาดจร (Spot) ปริมาณไม่เกิน 2 แสนตัน ที่ล่าสุดประมูลนำเข้าล็อตแรกได้ในราคา 5.32 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ให้นำมาคำนวณในสูตรราคาก๊าซรวม (Pool GAS) เพื่อเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศให้ถูกลง

รวมถึง เห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการซื้อขายไฟฟ้าจากในลาวไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย ระยะที่ 2 (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project) เฟส 2 หรือ LTM-PIP ระยะ 2 จากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ 

พร้อมทั้งมอบหมายให้ กฟผ.สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันที เพื่อให้สัญญา EPWA มีความต่อเนื่อง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาประเด็นการขอยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโครงการดังกล่าว

ขณะเดียวกัน กพช.เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้ กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าคู่สัญญาปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ไปเป็น FiT ได้ โดยคำนวณระยะเวลาปรับลด-เพิ่มอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ให้สอดคล้องกับวันที่เริ่มใช้อัตรา FiT ตามข้อเสนอของ กฟผ.