ไขปริศนา ‘บ.ญี่ปุ่น’ โตไม่พ้น 1 แสนล้านดอลลาร์

ไขปริศนา ‘บ.ญี่ปุ่น’ โตไม่พ้น 1 แสนล้านดอลลาร์

ย้อนกลับไปเมื่อสิ้นปี 2532 สภาพเศรษฐกิจฟองสบู่ญี่ปุ่นเข้าใกล้ปากเหวเข้าไปทุกที บริษัทที่ทรงมูลค่าสูงสุดของโลก 100 อันดับเป็นบริษัทญี่ปุ่นราวครึ่งหนึ่ง ตอนนี้บริษัทเดียวที่ติดกลุ่มคือโตโยต้ามอเตอร์ น่าสังเกตว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า ปัจจัยใหญ่สุดที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นสร้างผลงานได้ไม่ดีนักอยู่ที่การไร้ความสามารถของผู้บริหารในการตัดสินใจอย่างยากลำบาก แล้วทุ่มเททรัพยากรไปกับธุรกิจเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ บริษัทญี่ปุ่นตามหลังบริษัทจากประเทศอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ ที่ขับเคลื่อนให้บริษัททั้งหลายขยายตัวอย่างคึกคักทั่วโลก

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ มูลค่าตลาดของพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) ที่เพิ่มขึ้นอย่างงดงามเมื่อเทียบกับบริษัทญี่ปุ่นอย่างฟาสต์รีเทลลิงและราคูเท็น

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติจากสหรัฐรายนี้ ขายแบรนด์มันฝรั่งกรอบพริงเกิลส์ และแบตเตอรีดูราเซลออกไป แล้วหันไปเน้นที่ผงซักฟอก สกินแคร์ และธุรกิจหลักอื่นๆ อีก 8 ธุรกิจ ผู้ถือหุ้นตอบแทนพีแอนด์จีด้วยการเพิ่มมูลค่าบริษัทจาก 1 แสนล้านดอลลาร์ในเวลานั้นเป็น 3 แสนล้านดอลลาร์

ตรงข้ามกับฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าลำลองยูนิโคล่ ที่มูลค่ายังไม่ทะลุ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ และราคูเท็น บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำจากแดนอาทิตย์อุทัยก็สูญเสียแรงส่งไปหลังจากมาร์เก็ตแค็ปทะลุ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

157654150343

คล้ายๆ กับสถานการณ์ของ “คาโอ” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของญี่ปุ่น มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ก็แค่ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวมีแผนยกเครื่องการจัดประเภทตลาดเพื่อดึงนักลงทุนกลับมา ตั้งเป้าสร้างตลาดชั้นนำสำหรับหุ้นบลูชิพคัดสรรแล้ว ตลาดนี้สงวนไว้ให้บริษัทที่นักสนใจลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะ

ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ตลาดโตเกียวมีบริษัทดีๆ มากมาย ที่อาจเสริมพลังของตลาดได้ แต่การเปลี่ยนแปลงแค่เพียงผิวเผินนี้อาจไม่มากพอดึงเงินทุนไหลกลับ

ตลาดโตเกียวมีดัชนีติดตามบริษัทชั้นนำไปแล้ว เรียกว่า ดัชนีทอปิกซ์คอร์ 30 ประกอบด้วย 30 บริษัทใหญ่สุดวัดจากยอดขายหรือการระดมทุนในตลาด ทุกปีมีการทบทวนหุ้นในดัชนีเพื่อสร้างหลักประกันว่า บริษัทที่เติบโตสูงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิอยู่ในทอปิกซ์คอร์ 30

อย่างไรก็ตาม แม้มีเฉพาะหุ้นดีที่สุดแต่ทอปิกซ์คอร์ 30 ก็ยังด้อยกว่าดัชนีอื่นๆ

ปัจจุบันคอร์ 30 มูลค่าต่ำกว่า 80% ของมูลค่าตอนเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2541 อยู่เล็กน้อย ขณะที่ดัชนีหุ้นโตเกียวสูงขึ้น 40% ดัชนีทอปิกซ์สมอลล์ เหนือกว่าระดับเมื่อเดือน เม.ย.2541 ที่ 120%

ข้อมูลนี้ก่อให้เกิดความสงสัยเล็กน้อยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวไต่ไม่ขึ้นอยู่ที่หุ้นชั้นนำทำผลงานได้ไม่เสถียร

บริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มหยุดเติบโตเร็วกว่าคู่แข่งจากตะวันตกและจีน บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งพยายามอย่างยิ่งยวดให้มีมูลค่าตลาดผ่านหลักชัย 1 แสนล้านดอลลาร์ให้ได้

157654151918

ข้อมูลจากควิก-แฟคท์เซ็ตตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ระบุว่าในบรรดาบริษัทที่มูลค่าเกิน 1 หมื่นล้าน 20% ที่เกินหลัก 5 หมื่นล้านอยู่ในญี่ปุ่น แต่บริษัทกลุ่มนี้มีเพียง 3.9% เท่านั้นที่มูลค่าเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์

บริษัทญี่ปุ่นเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่เคยฝ่าแนวต้าน1 แสนล้านดอลลาร์ ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับบริษัทสหรัฐที่มีถึง 86 แห่ง ยุโรป 53 แห่ง และจีน 18 แห่ง

บริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มอิ่มตัวเร็ว การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์โดยกลุ่มนักวิจัยนำโดยฮิโรชิ ชิมิซุ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะพบว่า อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ (อาร์โอเอ) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรเปรียบเทียบกับสินทรัพย์โดยรวม บริษัทญี่ปุ่นมีอาร์โอเอเฉลี่ยสูงสุดที่ 10% เศษในราว 10 ปีหลังก่อตั้งจากนั้นอาร์โอเอจะลดลง ภาพความเป็นไปเหล่านี้ตรงข้ามอย่างรุนแรงกับบริษัทสหรัฐ ที่รักษาอาร์โอเอที่ระดับ 10%-12% ได้ยาวนานกว่า

ชิมิซุกล่าวว่า ปัจจัยใหญ่สุดเบื้องหลังความแตกต่างคือ บริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากบริษัทที่ไม่ทำกำไร ไปสู่ธุรกิจสำคัญในเชิงกลยุทธ์ได้

157654153268

คาซุชิเกะ โอคุโนะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (ซีไอโอ) บริษัทโนรินชุคน แวลู อินเวสต์เมนต์ส กล่าวว่า บริษัทที่กำลังเติบโตสามารถรักษาแรงส่งไว้ได้ ด้วยการทุ่มเททรัพยากรให้กับขีดความสามารถหลักเพื่อใช้สร้างความโดดเด่นในตลาด

สัญญาณบวกบางประการที่มีให้เห็น เช่น หุ้นโซนีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี เมื่อบริษัทลงทุนหนักในธุรกิจเซ็นเซอร์รับภาพที่แข่งขันได้สูงมาก โดยลดการลงทุนในธุรกิจอุปกรณ์เพื่อผู้บริโภคลง

คีย์เอ็นซ์ผู้ผลิตเซ็นเซอร์อัตโนมัติ เครื่องมือวัด และสินค้าใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มความสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ต้องลงรายละเอียด ตอนนี้กำลังเข้าใกล้เกณฑ์ 10 ล้านล้านเยน

จากตัวอย่างเห็นได้ว่าการจัดการอย่างเป็นพลวัตเพื่อให้ธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่แล้วแข็งแกร่งขึ้นไปอีก เป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้บริษัทญี่ปุ่นหลุดออกจากหล่มแห่งความซบเซาได้