'แบม' ลั่นพื้นฐานแกร่งไร้กังวลหุ้นต่ำจอง

'แบม' ลั่นพื้นฐานแกร่งไร้กังวลหุ้นต่ำจอง

“บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์” ยืนยันไม่กังวลราคาหุ้นรูดต่ำจอง หลังหมดกรีนชู มั่นใจพื้นฐานดี คาดให้ผลตอบแทนปีละ 5-6% พร้อมตั้งเป้ารายได้ปี 63 กลับสู่ภาวะปกติที่ระดับ 1.8 หมื่นล้านจากปีนี้ที่คาดแตะ 2 หมื่นล้าน

หุ้น บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวานนี้(16ม.ค.) เป็นวันแรก โดยราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 18.40 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) 0.90 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.14% ซึ่งถือเป็นราคาสูงสุดของวัน ก่อนจะปรับลดลงมาปิดตลาดที่17.50 บาท เท่ากับราคาไอพีโอ

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีความกังวลว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลงหลังสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิซื้อหุ้นคืนจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน(กรีนชู ออปชั่น) เนื่องจากมั่นใจว่าบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เพราะจากการดำเนินงานมาตลอดกว่า 20 ปีพบว่าบริษัทมีกำไรทุกปี

โดยในส่วนทิศทางธุรกิจของ BAM มั่นใจว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจยังคงขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลง เนื่องจากหากภาวะเศรษฐกิจขาลงบริษัทก็ได้รับผลดีจากการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือ NPLได้ในราคาที่ดี หากภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นบริษัทก็จะได้รับอานิสงส์จากรายได้การขายสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร BAM กล่าวว่า บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะทำได้แตะ 20,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 17,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปีนี้บริษัทมีการขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ล็อตใหญ่ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่เป้าหมายผลประกอบการปี 2563บริษัทตั้งเป้ารายได้จะกลับสู่ภาวะปกติที่ระดับ 18,000 ล้านบาท เพราะปกติรายได้ของบริษัทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 17,000-18,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ทิศทางธุรกิจปี 2563 นั้น บริษัทคาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งคาดว่าระดับเอ็นพีแอลของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ที่ระดับ 3% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะซื้อ NPL และNPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารอีกไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่อยู่ระดับ 12,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีมูลค่าพอร์ตคงค้าง NPLs อยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาท และ NPAs อยู่ที่ระดับ 55,000 ล้านบาท