กพช.คลอดเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้า 700 MW อัตรารับซื้อ 3-5 บาทต่อหน่วย

กพช.คลอดเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้า 700 MW อัตรารับซื้อ 3-5 บาทต่อหน่วย

กพช.คลอดเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้า 700 MW อัตรารับซื้อ 3-5 บาทต่อหน่วย ไฟเขียวบอร์ดกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 50,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนแผนปี 63–67 เดินหน้า LNG เสรี กฟผ. นำเข้าแบบตลาดจรไม่เกิน 200,000 ตัน

ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (16 ธ.ค.62) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมเห็นชอบกรอบและแนวนโยบายด้านพลังงานในหลายวาระ โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่าการประชุมวันนี้มีเรื่องสำคัญด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เรื่องแรก การเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) เมื่อ 4 ธ.ค.62 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากขึ้นเพื่อบริหารจัดการตลอดจนกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง โดยในปี 2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ (MW) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น


2 โครงการ (1) Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ (2) โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 MW ใช้วิธีการคัดเลือกโดยกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป


รูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 - 90 และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 - 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก


รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย (2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย
พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ครอบคลุมหมู่บ้านโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้า ดังนี้ (1) 5 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี (2) 3 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (3) 1 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี ในกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเขตพื้นที่ ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อการพัฒนา “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” เป็นสำคัญ และชุมชนยังคงได้รับผลประโยชน์ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติ



ผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย ราคารับซื้อไฟฟ้า เนื่องด้วยเปิดโอกาสให้โครงการที่ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วก่อนปี 2560 แต่ไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ ติดปัญหา Grid capacity แต่ปัจจุบันสามารถรับซื้อไฟฟ้าได้แล้ว จึงกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช. ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ. 60 ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาท ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 MW 4.8482 บาท ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า
3 MW 4.2636 บาท ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาท ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท
ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย 4.7269 บาท รวมทั้ง กำหนด Fit พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

เรื่องที่สอง การเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2563 – 2567 ในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท หรือปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี


เป็นประธาน จะได้บริหารเงินกองทุนฯ ในการนำไปใช้ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ อุดหนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ การสร้างบุคลากร และการสร้างความตระหนักเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยเป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯ ตามความในมาตรา 25 แห่งพระราช บัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจขนาดใหญ่ อาคารธุรกิจขนาดเล็กและบ้านอยู่อาศัย และภาคการขนส่ง ลดลงร้อยละ 30 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 ในปี 2579 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 - 25 ภายในปี 2573 ตามถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในระหว่างการประชุม COP 21 ซึ่งการนำเงินกองทุนฯ เข้าไปช่วยสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการตัดสินใจลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการผลิตและใช้พลังงานทดแทน จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้น กพช. ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาในการดำเนินการตามนโยบายพลังงาน 3 เรื่อง ได้แก่


1.​การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้ กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าคู่สัญญาดำเนินการเพื่อให้สามารถปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ไปเป็น FiT ได้ โดยมีการคำนวณระยะเวลาการปรับลด-เพิ่มอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ให้สอดคล้องกับวันที่เริ่มใช้อัตรา FiT ตามข้อเสนอของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


2.​การกำกับอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2561–2563 โดยระหว่างการปรับปรุงนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฉบับใหม่ พ.ศ. 2564–2568 ให้ กกพ. ใช้หลักเกณฑ์ตามนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2554–2558 ไปพลางก่อน


3.​การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 1 โดยได้รับทราบการดำเนินการเตรียมความพร้อม Shipper รายใหม่ ที่มีความต่างไปจากที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อ 31 ก.ค. 60 ในส่วนที่จะให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจากสถานการณ์ LNG ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ มีความเสี่ยงที่การนำเข้า LNG ของ กฟผ. 1.5 ล้านตันต่อปี อาจเกิดภาระ Take or Pay และอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ
2 สตางค์/หน่วย ขณะที่ราคา LNG มีแนวโน้มจะลดลง LNG Spot ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU



​กพช. จึงให้ยกเลิกมติ กพช. เมื่อ 31 ก.ค. 60 ที่ในส่วนที่จะให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเห็นชอบให้ กฟผ. เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่


โดยสามารถนำเข้า LNG ในรูปแบบ Spot ไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติ กบง. เมื่อ 21 ต.ค. 62 พร้อมทั้งเห็นชอบโครงสร้างราคา LNG แบบ Spot ของ กฟผ. โดยล๊อตแรกเดือนธันวาคม 2562 และล๊อตสองเดือนเมษายน 2563 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1



นอกจากนั้น กพช. ได้ให้ กกพ. ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และได้เห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย ระยะที่ 2 (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project) Phase 2 หรือ LTM-PIP ระยะ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้ กฟผ. สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ได้ทันที เพื่อให้สัญญา EPWA มีความต่อเนื่อง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาในประเด็นการขอยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโครงการดังกล่าว