เตือนรับมือ 'เศรษฐกิจโลก' ผันผวน สหรัฐ-จีนทำสงครามเย็น

เตือนรับมือ 'เศรษฐกิจโลก' ผันผวน สหรัฐ-จีนทำสงครามเย็น

กรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีโอกาสพัฒนาเป็นสงครามเย็น เริ่มชัดเจนมากขึ้ หลังการบรรลุข้อตกลงการค้า เฟสแรกร่วมกัน แต่ไม่มีรายละเอียดมากพอที่ทำให้ทุกประเทศมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างไม่สะดุด และไร้ซึ่งปัจจัยลบถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

สงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีน มีชนวนมาจากสงครามการค้าของ 2 ประเทศนี้ที่เริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ลงนามในคำสั่งขึ้นภาษีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาจากจีน พร้อมกล่าวหา จีนว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีน ด้วยการบังคับให้บริษัทสหรัฐต้องร่วมทุนกับบริษัทจีน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเปิดเผยความลับทางการค้าแก่บริษัทจีนที่เป็นหุ้นส่วน

สิ่งที่สหรัฐกลัวก็คือ นโยบาย "เมด อิน ไชนา 2025" ของจีน ที่ทำให้ประธานาธิบดี ทรัมป์ ตัดสินใจห้ามบริษัทจีนลงทุนในบริษัทไฮเทคของสหรัฐ เพราะกลัวว่า บริษัทจีนจะครองโลก จะล้วงความลับและคุกคามความมั่นคงของประเทศ เหมือนที่สหรัฐเคยกล่าวหาว่าญี่ปุ่นจะครอบครองโลกในช่วงทศวรรษ 1980 และพยายามกีดกันบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง โซนี และบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำอื่นๆ ของญี่ปุ่นในขณะนั้น

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดที่ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนนั้น นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกของสหรัฐ-จีน ถือเป็นข่าวดีแก่ตลาดหุ้น ตลาดทุน แต่ด้วยความที่การบรรลุข้อตกลงนี้ขาดรายละเอียด ทำให้ตัวข้อตกลงยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะยังมีประเด็นที่ทั้งสหรัฐและจีน ยังมีความแตกต่างกันอยู่ทั้งในประเด็น ความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งกรณีสถานการณ์ในฮ่องกงและในมณฑลซินเจียง ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐ และจีน ที่เปิดช่องให้ทั้งสหรัฐและจีน นำมาเป็นต้นเหตุที่จะตอบโต้กันทางการค้าได้อีกในวันข้างหน้า

สอดคล้องกับมุมมองของ "โกลด์แมน แซคส์" ที่แสดงความผิดหวังอย่างมาก หลังสหรัฐ-จีนบรรลุข้อตกลงการค้า เฟสแรกร่วมกัน โดยบอกว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้อยู่ และยังมีปัญหาทางเทคนิค ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายระหว่างกันอีกมาก

ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีนลุกลามกินระยะเวลานาน และขอบเขตของการพิพาทไม่ได้อยู่ที่เรื่องการค้าอีกต่อไป แต่ขยายวงครอบคลุม หลายมิติ ตั้งแต่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องของเทคโนโลยี เช่น การกีดกัน ไม่ให้บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ได้สะดวก

นี่คือผลพวงของการที่สหรัฐหวั่นวิตกว่า นโยบายเมด อิน ไชนา 2025 ของจีนจะทำให้จีนพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง รวมไปถึงสินค้าไฮเทคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่มไอที ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ตลอดจนสินค้าประเภทอื่นๆ

จีน ซึ่งตระหนักดีว่า การทำสงครามครั้งนี้กับสหรัฐเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ หันไปจับมือกับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ทั้ง แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี คอสตาริก้า ฮ่องกง เวเนซุเอลา สิงคโปร์ บราซิล เกาหลีใต้ เม็กซิโก กาตาร์ ไทย อินเดีย และยุโรป รวมทั้งลดการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ขณะนี้ถืออยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านดอลลาร์ ลดการถือครองลง 5.8 ล้านดอลลาร์

157648878618

และสุดท้ายคือ ลดภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ให้แก่ประเทศคู่ค้ารายอื่น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ โดยลดภาษีเหลือ 6.9% จากเดิม 15.7% เพื่อกระตุ้นการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อให้ประชาชนในประเทศลดการซื้อสินค้าจากสหรัฐ

แต่สหรัฐ ไม่ได้หยุดอยู่แค่กรณีพิพาททางการค้ากับจีน หากแต่เข้าไปวุ่นวายในกิจการฮ่องกง เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามบังคับใช้กฎหมาย "Hong Kong Human Rights and Democracy Act" ซึ่งกฎหมายนี้จะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปกครองตนเอง ในฮ่องกง

กฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดให้มีการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ โดยการทบทวนดังกล่าวจะพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า ฮ่องกงได้รับอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเพียงพอจากจีนหรือไม่

การกระทำของทรัมป์ ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจระงับการพิจารณาคำขอของสหรัฐ ที่ต้องการส่งเครื่องบินรบและเรือรบเทียบท่าฮ่องกง พร้อมทั้งลงโทษ เอ็นจีโอที่แสดงพฤติกรรมชั่วร้ายระหว่าง ที่เกิดเหตุไม่สงบในฮ่องกง ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ และฟรีดอมเฮาส์ และเรียกร้องให้สหรัฐแก้ไขความผิดที่ได้กระทำลงไป ยุติความคิดและการกระทำ เพื่อแทรกแซงกิจการฮ่องกงและกิจการภายในของจีน

นอกจากฮ่องกง สหรัฐ ยังทำให้สัมพันธภาพกับจีนเลวร้ายลงอีก เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 407 ต่อ 1 ผ่านร่างกฎหมาย คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ ในมณฑลซินเจียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูต และการเจรจา การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างไม่ต้องสงสัย

ในทุกวันนี้ จีน เติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐ และน่าจะแซงสหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบอบการเมืองการปกครองของจีนก็เข้มแข็ง มีความมั่นใจในตัวเอง มีเทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าทุกประเทศ แถมใช้งบประมาณทางทหารมากถึง 300 ล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐอยู่ที่ 800 ล้านดอลลาร์

ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า ระเบียบโลก กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสองขั้วอำนาจอีกครั้ง คือขั้วสหรัฐและขั้วของจีน และจากความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ถือได้ว่าโลกกำลังอยู่ในยุคสงครามเย็นครั้งใหม่ที่มีคู่สงครามคือ จีนและสหรัฐ

ในระเบียบโลกยุคใหม่ ผู้นำจีนพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสหรัฐโดยตรง และหลีกเลี่ยงการทำให้ตะวันตก ซึ่งหวาดระแวงจีนอยู่แล้ว ตื่นตระหนกกับจีนมากขึ้นไปอีก ความระมัดระวังไม่เผชิญหน้าจะเป็นหลักการ สำคัญของนโยบายการต่างประเทศจีนในทศวรรษหน้า

นอกจากนี้ จีนจะพยายามหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังเป็นพิเศษในประเด็นอ่อนไหว ที่อาจนำไปสู่สงครามกับสหรัฐ เช่น กรณีทะเลจีนใต้ และความมั่นคงทางไซเบอร์ เพราะฉะนั้นแม้จีนกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่นโยบายต่างประเทศของจีนจะไม่โฉ่งฉ่างแน่นอน