อยู่อย่างสง่างามในวัยเกษียณ

อยู่อย่างสง่างามในวัยเกษียณ

วางแผนก่อนเกษียณ อาจไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลที่จะต้องเตรียม แต่มาตรการของภาครัฐ อาจจะต้องมองระยะไกลให้มากขึ้น ทั้งการออม รวมถึงเงินบำนาญที่ต้องให้ให้เพียงพอต่อผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปธุระที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมืองเก่าที่เคยอยู่ ได้พบปะเพื่อนนักธุรกิจออสเตรเลียและสังสรรค์กับเพื่อนเก่าๆ

สมัยที่ผมสอนหนังสือและเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นั่นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว พบกันครบทั้ง 12 คนตามที่นัดกันไว้ สนุกมาก เพราะถึงเวลาจะผ่านไปนานมาก แต่ความเป็นเพื่อนและความสนุกสนานที่เคยมีก็ไม่เปลี่ยนแปลง

บางคนยังทำงานอยู่ บางคนเกษียณ บางคนเปลี่ยนมาเป็นนักเขียน เป็นศิลปินหรือทำงานเพื่อสังคมหลังเกษียณ ทำให้ชัดเจนว่าแม้แต่ละคนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน มีเงินออมและบำนาญ แต่การใช้เวลาของตนเองให้เป็นประโยชน์และมีความหมาย บวกกับมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอนั้นสำคัญ เพราะทำให้เราสามารถเลือกทำในสิ่งที่อยากทำได้หลังเกษียณ ทั้งเพื่อตนเองและสังคม ทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขและสง่างาม

157649763419

แต่ชีวิตหลังเกษียณกำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ ช่วงที่อยู่เมลเบิร์นมีข่าวการประท้วงหยุดงานที่ฝรั่งเศส โดยครู ข้าราชการประจำ พนักงานและลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ประท้วงรัฐบาลที่มีแผนจะปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจะกระทบเงินบำนาญที่เป็นรายได้หลักของคนเกษียณอายุ

ที่เนเธอร์แลนด์ประเทศที่ถูกจัดว่ามีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุดในโลก มีการประท้วงข้อเสนอของรัฐบาลที่อาจลดเงินบำนาญที่ปัจจุบันได้มากถึงประมาณ 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อให้ระบบบำเหน็จบำนาญที่มีอยู่สามารถยืนระยะได้ต่อไป

นอกจากนี้ในประเทศอย่างอังกฤษและเกาหลีใต้ ก็ถกเถียงกันเรื่องภาระเงินสะสม ที่ผู้ที่ทำงานปัจจุบันอาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เพื่อให้ระบบหรือกองทุนสามารถมีเงินพอที่จะจ่ายบำนาญให้คนที่เกษียณ เป็นเรื่องของภาระข้ามวัยที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ทำงานอยู่ที่ต้องออมมากขึ้นเพื่อดูแลคนเกษียณที่ไม่ทำงานแล้ว

ประเด็นเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมตะวันตกและหลายประเทศในเอเชีย ที่สังคมกำลังเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย คนเกษียณอายุมีมากขึ้น ขณะที่คนเข้าสู่วัยทำงานมีน้อยลง ทำให้ภาระเงินบำนาญที่ต้องจ่ายให้ผู้เกษียณอายุจะมีมากขึ้น

ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง ได้ทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินสะสมไปลงทุนเพื่อหารายได้ลดลงไปมาก ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญที่ถูกตั้งขึ้นมาทั้งของภาครัฐและเอกชนจะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายภาระต่างๆ ที่มีอยู่

ล่าสุด เดือน พ.ย.กลุ่ม G30 ที่ศึกษาเรื่องนี้มีข้อสรุปว่าประเทศหลักอย่างสหรัฐ จีน และประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำจะมีช่องว่าง หรือขาดเงินประมาณ 15.8 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะทำให้ระบบบำเหน็จบำนาญปัจจุบันสามารถดูแลผู้ที่เกษียณอายุได้ตามพันธะที่มีในช่วง 30 ปีข้างหน้า ถึงปี 2593 ปัญหาคือเงินเหล่านี้จะมาจากไหน และถ้าหาไม่ได้ คนที่เกษียณอายุจะอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีรายได้หรือเงินบำนาญเพียงพอ

157649752283

  • ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอที่มีการพูดกันมากเพื่อแก้ปัญหา

1.ให้คนทำงานนานขึ้น เพื่อลดภาระในการจ่ายเงินหลังเกษียณ

2.ลดเงินบำนาญที่จ่าย เช่น จากที่เคยจ่ายถึง 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายอาจลดลงเหลือ 50-40%

3.เก็บภาษีมากขึ้นเพื่อให้รัฐมีรายได้ที่จะนำไปใช้จ่ายในเรื่องรายได้หลังเกษียณ

เหล่านี้คือข้อเสนอที่อาจจำเป็นเพื่อให้ระบบบำเหน็จบำนาญสามารถอยู่ได้ และเป็นที่มาของการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ

ประเทศไทยขณะนี้ก็เข้าสู่สังคมสูงวัย และอีก 2 ปีข้างหน้า คือ ปี 2563 ประชากรไทย 20% จะมีอายุเกิน 60 ปี ถือเป็นสังคมสูงวัยที่สมบูรณ์ ปัจจุบันตัวเลขต่างๆ ชี้ว่าปัญหาของเราก็กำลังเกิดขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยหลังเกษียณส่วนใหญ่อาจไม่ราบรื่นและไม่สง่างาม

1.คนไทยในวัยเกษียณทุกวันนี้มากกว่า 60% มีเงินเก็บไม่ถึงล้านบาท เทียบกับเงินเก็บอย่างน้อย 4 ล้านบาทที่สำนักงาน กลต.เคยประเมินว่าควรมีเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ไม่ทำงาน ทำให้ผู้สูงอายุกว่าหนึ่งในสามในประเทศเราจึงต้องทำงาน

2.ระบบบำเหน็จบำนาญของเราที่มีอยู่ ที่รวมถึงระบบบำนาญข้าราชการแบบเดิม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งหมดสามารถครอบคลุมคนในวัยทำงานได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ทำงาน คือมีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 20 กว่าล้านคน เทียบกับประชากรในวัยทำงาน 56 ล้านคน หรือผู้มีงานทำงาน 37 ล้านคน ทำให้ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีระบบรายได้หลังเกษียณรองรับ

3.การจัดอันดับระบบบำเหน็จบำนาญของ 37 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัท Mercer Melbourne ปี 2562 (Global Pension Index) ที่อันดับหนึ่งถึงสามได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย ประเทศไทยอยู่อันดับท้ายสุดที่ 37 ต่ำกว่ามาเลเซียและฟิลิปปินส์

โดยคะแนนประเมินของเราทั้งในหมวดความเพียงพอ ความยั่งยืนของระบบ และความน่าเชื่อถือได้คะแนนระดับต่ำ ชี้ถึงปัญหาที่ระบบของเรามีทั้งในจำนวนผู้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญที่ยังครอบคลุมไม่ได้ทั้งหมด ระดับเงินขั้นต่ำที่สามารถจ่ายได้ และการไม่มีระบบแกมบังคับเพื่อให้เกิดการออม ทั้งหมดเป็นจุดอ่อนที่ยังต้องปรับปรุง

157649789254

ข้อมูลเหล่านี้จึงชี้ว่าความเพียงพอของทรัพยากรที่สามารถนำมาจัดสรรเพื่อการเกษียณอายุของคนไทยอาจเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้า จากระดับการออมของประเทศที่ไม่สูง และความไม่พร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญที่ประเทศมี ทำให้คนจำนวนมากอาจไม่สามารถมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขและอยู่ได้อย่างสง่างาม

ที่สำคัญปัญหานี้จะสร้างภาระมากสำหรับคนรุ่นปัจจุบันที่กำลังทำงานอยู่ และคนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มทำงานที่ต้องเลี้ยงดูคนที่เกษียณ คนที่จะเกษียณ รวมถึงดูแลตัวเองที่ต้องอยู่ในสังคมต่อไป จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 25-40 ปี จะสนใจกับปัญหาที่ประเทศมีและอนาคตของประเทศมากขึ้น รวมถึงต้องการมีบทบาทจริงจังในทางการเมืองเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา

ล่าสุด ประเทศฟินแลนด์มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี ถึง 4 คน ที่เข้ามาทำงานการเมืองเพราะต้องการแก้ปัญหาให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขามีอนาคตที่ดี

สำหรับประเทศไทย สิ่งที่คนรุ่นเก่าอย่างผมจะช่วยได้คือ ช่วยกันใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อคนรุ่นต่อไปที่ต้องดูแลเรา เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ในเรื่องการออม การไม่ฟุ้งเฟ้อที่นำไปสู่หนี้สินและการใช้จ่ายเกินตัว

รวมถึงเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้ใหญ่ที่ยอมรับและใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นปัญหาที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้และไม่ได้แก้ไข