จุดประกาย'คนรุ่นใหม่'ใช้คลาวด์พัฒนาสมาร์ทซิตี้

จุดประกาย'คนรุ่นใหม่'ใช้คลาวด์พัฒนาสมาร์ทซิตี้

การออกแบบกรุงเทพมหานครเป็น เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ยกระดับความเป็นมหานครศูนย์กลางของอาเซียน และให้สอดคล้องกับไลฟสไตล์ของผู้ใช้ในอนาคต เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมดีไซน์เมืองที่พวกเขาต้องการ

อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (เอดับบลิวเอส) ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ของสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการ “Active Tech Citizenship เยาวชนคนรุ่นเปลี่ยน” Tech Workshop : Active Youth Collaboration for Innovative Bangkok ในหัวข้อ “อยากเปลี่ยนกรุงเทพมหานคร เป็นแบบไหน?” เพื่อเปิดโอกาสให้ร่วมนำเสนอไอเดียพัฒนาชุมชนเมือง เริ่มจากกรุงเทพฯ และต่อยอดขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน

กฤตภาส นันดานี นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมนำเสนอไอเดีย G-Boat หรือเรือโดยสารไฟฟ้าที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์และช่วยบำบัดน้ำเสียเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำในลำคลอง ซึ่งปัจจุบันดัชนีคุณภาพน้ำมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 57 คะแนน หรืออยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม

ขณะที่การันต์ เศรษฐี นักศึกษาร่วมทีมจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน กล่าวเสริมว่า ที่สำคัญคือ G-Boat ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ควบคุมความเร็วของเรือและติดตั้งจีพีเอสเพื่อง่ายต่อการติดตามตรวจสอบ และปกป้องความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร

“โปรเจค G-Boat พัฒนาจากแนวคิดเรือโดยสารรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกรีนโบ๊ท ซึ่งในกรุงเทพฯ มีลำคลองหลายสายเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายครอบคลุมทั่วเมือง ถ้านำมาพัฒนาแบบครบวงจร ก็สามารถเป็นระบบขนส่งสาธารณะทางเลือกใหม่ให้ประชาชนได้ใช้สัญจร โดยส่วนตัวมองว่า หากมีการลงทุนระยะยาวในเชิงธุรกิจจะสามารถพัฒนาเป็นเส้นทางการค้า ชอปปิง และท่องเที่ยวทางน้ำแห่งใหม่ให้กับกรุงเทพฯ” กฤตภาส กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานยังมีการนำเสนอโปรเจคที่น่าสนใจหลายด้าน ได้แก่ เครื่องรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกเป็นกระเป๋ารักษ์โลก การบริหารระบบจราจรอัจฉริยะ แอพพลิเคชั่นแบงคอกแคร์แจ้งข่าวสารและเตือนภัย และแอพพลิเคชั่นกรุงเทพฯเมืองแห่งการเดิน (ปลอดภัย) ที่แนะนำเส้นทางการสัญจรทางเท้าที่สะดวกและส่งเสริมสุขภาพ

โดยไอเดียทั้งหมดนี้จะนำไปพัฒนาให้สามารถใช้ได้จริง เพื่อยกระดับให้กรุงเทพฯเป็นสมาร์ทซิตี้ชั้นแนวหน้าและเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

157645321791

วินเซนต์ คัวฮ์ ผู้บริหารฝ่ายการศึกษาและหน่วยงานด้านการวิจัยธุรกิจสาธารณสุข ของเอดับบลิวเอส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่นกล่าวว่า เอดับบลิวเอสเข้าไปมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้รู้จักใช้เทคโนโลยีคลาวด์ และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) เข้ากับโครงการ ActiveTechCitizenship โดยมุ่งจุดประกายความคิดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันออกแบบและนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์พัฒนากรุงเทพฯ จากเมืองในฝันให้เป็นเมืองทันสมัย

“โครงการนี้ เน้นการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และนวัตกรรมมาคิดต่อยอด เพื่อเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ และนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างที่คนรุ่นใหม่ต้องการจะเห็นครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระบบจราจรอัจฉริยะ การรักษาความปลอดภัยของเมือง ธุรกิจบริการขนส่งสาธารณะ สายการบินและอื่นๆแบบครบวงจร เพื่อผลักดันให้เป็นสมาร์ทซิตี้ระดับภูมิภาค”วินเซนต์ระบุ

ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตบางซื่อ-ดุสิต ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน สภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงโครงการActiveTechCitizenship ว่าโครงการนี้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวน 250 คนทั้งที่เป็นนิสิตนักศึกษา หรือระดับชั้นมัธยมปลายจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ได้แชร์มุมมองร่วมทำเวิร์กชอป และออกไอเดียภายใต้คอนเซปต์ “อยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นแบบไหน?” ทั้งนี้ เพื่อโอกาสให้เยาวชนได้กล้าเปลี่ยนตัวเองลองเสนอไอเดียในเวทีระดับประเทศ

“เยาวชนผู้เข้าร่วมทุกทีมต่างได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองกับพี่ๆนักการเมืองรุ่นใหม่ คณะรัฐมนตรีและทีมผู้บริหารประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนากับเมืองหลวงถือว่าเป็นครั้งแรกที่เปิดให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบาย และมาจากเสียงเยาวชนอย่างแท้จริง” ธณิกานต์กล่าวย้ำ

โครงการนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ 1) Open House ให้เยาวชนมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมเวิร์กชอปเปิดโลกทัศน์ใหม่ในสถานที่ทำงานจริงคือ รัฐสภาแห่งใหม่ 2) On Field การลงพื้นที่ทำงานจริง สำรวจ เลือกพื้นที่ใกล้ตัว จุดประกายการเปลี่ยนแปลง 3) VoiceYourIdea นำเสนอไอเดียกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ

สำหรับโครงการนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะขับเคลื่อนต่อในการนำเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำสู่การบูรณาการไอเดียของเยาวชนสู่โครงการระดับประเทศ โดยจัดทำเป็นรายงานนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

157645323067

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้นักพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ ช่วยศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแต่ละโปรเจคที่เยาวชนคิดออกแบบและนำเสนอไอเดียเข้ามา นำไปสู่การพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ชั้นแนวหน้าและศูนย์กลางในภูมิภาค

นอกจากนี้โครงการ Active Tech Citizenship ต้องการส่งต่อโอกาสให้เยาวชนอันเป็นอนาคตแห่งชาติไทย ในการส่งเสียงเพื่อชาติ ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมของเด็กๆเหล่านี้เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลจากการกำหนดนโยบายในวันนี้ และเป็นผู้ใช้ในอนาคต

งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนคนรุ่นใหม่ มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม อาทิ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ฟิฮลา เมสคาเนน ผู้เขียนหลักสูตรการออกแบบความคิดให้กระทรวงศึกษาของฟินแลนด์ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรวมกว่า 50 คนร่วมรับฟังการนำเสนอไอเดีย