ดาวเทียมบล็อกเชน สุดยอดห้องนิรภัยข้อมูลจากสตาร์ทอัพสิงคโปร์

ดาวเทียมบล็อกเชน สุดยอดห้องนิรภัยข้อมูลจากสตาร์ทอัพสิงคโปร์

สตาร์ทอัพสิงคโปร์เบนเข็มเข้าไทย นำเสนอ “ดาวเทียมบล็อกเชน” ห้องนิรภัยรูปแบบใหม่บนฐานเทคโนโลยีอวกาศ สร้างระบบนิเวศโฉมใหม่เชื่อมโยงนักธุรกิจ นักพัฒนาและผู้บริโภคนับล้านคนให้เข้าถึงได้ง่ายพร้อมความปลอดภัยสูงสุดจากแฮกเกอร์

ในอดีตการพัฒนาโครงการอวกาศเอกชนถูกจำกัดไว้สำหรับมหาเศรษฐีเท่านั้น แต่ด้วยการใช้สถาปัตยกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยี QTUM Blockchain “สเปซเชน” จึงได้เปิดโลกแห่งการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้แก่บรรดานักพัฒนาในทุกๆ แห่งทั่วโลก ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอวกาศกลายเป็นประชาธิปไตย และปลดล็อกศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นแนวหน้าแห่งนวัตกรรมทางธุรกิจในศตวรรษที่ 21 และในอนาคตต่อๆ ไป


SpaceChain คือแพลตฟอร์มอวกาศบนชุมชนที่เชื่อมอวกาศกับเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างเครือข่ายดาวเทียมบล็อกเชนแบบเปิดรายแรกของโลก ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2560 เพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาและใช้แอพพลิเคชั่นได้บนอวกาศ

157641751738

ส่งบล็อกเชนขึ้นสู่วงโคจร

ซี เจิ้ง (Zee Zheng) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ สเปซเชน (SpaceChain) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศสัญชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า สเปซเชนก่อตั้งเมื่อปี 2560 ผนวกสองเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน คืออวกาศและบล็อกเชน เพื่อให้เป็นโครงสร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อได้ทั่วโลกในแบบกระจายตัว โดยมีดาวเทียมเป็นโฮสต์ในการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูล ระบบการทำงานจึงรันและพัฒนาอยู่ในอวกาศ อีกทั้งมีการให้โทเคนเปรียบเสมือนเงินตราในแบบดิจิทัล รองรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ฝ่ายคือ บุคคลกับองค์กร บนระบบเครือข่ายแบบกระจายตัว (decentralized) ทั้งสองฝ่ายสามารถสื่อสารติดต่อกันโดยตรง จึงมีความปลอดภัยสูง


สเปซเชนไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ไม่ต้องผ่านจุดเชื่อมต่อใดๆ และไม่ต้องอาศัยการติดต่อกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นโครงสร้างการติดต่อแบบรวมศูนย์กลาง (centralized) ตรงจุดนี้เองอาจเป็นความเสี่ยงต่อการถูกเจาะเข้าระบบและเกิดการจารกรรมข้อมูลที่เป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ จึงเป็นเครือข่ายทางเลือก ที่ทั้งบล็อกเชนและฟินเทคต้องการเลือกใช้งานแทนอินเทอร์เน็ต เพราะศักยภาพมีมากกว่าโครงสร้างการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต โดยอยู่ในรูปแบบโครงข่ายแบบกระจายตัวบนเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งยากต่อการเข้าถึงของแฮกเกอร์ อาชญากรไซเบอร์หรือนักจารกรรมไซเบอร์

SpaceChain เปิดเผยในเอกสารเผยแพร่ว่า เทคโนโลยีชุดฮาร์ดแวร์บล็อกเชนกำลังอยู่บนเส้นทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)โดยขึ้นไปพร้อมกับจรวด SpaceX Falcon 9 ในฐานะส่วนหนึ่งของภารกิจเติมเสบียงเชิงพาณิชย์ CRS-19 ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนสู่วงโคจรอวกาศครั้งที่ 3 ของ SpaceChain ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ในการกระจายศูนย์กลางสู่วงโคจรนอกโลก สำหรับแอพพลิเคชั่นฟินเทคและธุรกิจ

โมเดลปฏิวัติธุรกรรมการเงิน

ดาวเทียมบล็อกเชนที่เป็นโฮสต์ ได้เข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วนรวมถึงระบบเศรษฐกิจของโลก เนื่องมาจากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี และการทลายทุกกำแพงที่ขวางกั้น แต่การที่จะสามารถแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเต็มที่นั้น รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องเห็นชอบ รวมไปถึงจะต้องอาศัยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนทำการผลักดันนโยบายและกฎหมายต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมบล็อกเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละองค์กร

157641754520


"เราสร้างดาวเทียมซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่สนับสนุนการทำธุรกรรมการเงิน และพยายามทำให้บล็อกเชนมีความเสถียรมากที่สุด อีกทั้งกำลังทำ satellite wallet ที่ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตอีกต่อไปและ satellite network ที่บริการเฉพาะกลุ่มเท่านั้น” ซี เจิ้ง กล่าว


ทางบริษัทเตรียมจะเปิดตัว satellite payload ที่ผนวกบล็อกเชนเข้าไว้ด้วย โดยกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศภายในเดือนนี้ นับเป็นดาวเทียมลำดับที่ 3 ของสเปซเชน ที่จะทำงานสนับสนุนดาวเทียมบล็อกเชน 2 ตัวที่ปล่อยเมื่อ ก.พ. ขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำ ด้วยจรวดขนส่งดาวเทียม CZ-2D จากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน ในทะเลทรายโกบี ประเทศจีน


นอกจากนี้ยังติดตั้งบอร์ดพัฒนาฮาร์ดแวร์ Raspberry Pi ไปกับดาวเทียมด้วย ซึ่งบอร์ดนี้สามารถเปิดใช้โปรแกรมได้เต็มโหนดบนเทคโนโลยีบล็อกเชน Qtum และเมื่อ ต.ค.2561 ก็ได้ปล่อยตัวดาวเทียมดวงที่ 2 ช่วยวางรากฐานสำหรับโครงสร้างเครือข่ายแบบกระจายตัวที่มีความปลอดภัยเป็นเลิศ พร้อมรองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจและฟินเทคยุคใหม่ โดยมีส่วนประกอบอย่างเช่น เทคโนโลยี Multi-signature ข้อกำหนดที่ธุรกรรมมีสองลายเซ็นหรือมากกว่าก่อนที่จะสามารถดำเนินการได้ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยของข้อมูลหรือธุรกรรมด้านการเงิน การให้บริการ การตรวจสอบดูแลและการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล

เดินหน้าเจาะฐานตลาดไทย

ทั้งนี้ สเปซเชนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ยุโรป จีนและสหรัฐ ทำการตลาดครอบคลุมรอบโลก แต่ตลาดในสหรัฐเติบโตค่อนข้างเด่นชัดเพราะมีเทคโนโลยีรองรับที่ทันสมัย แม้จะมีกฎระเบียบมากมายให้ต้องปฏิบัติ ส่วนตลาดในประเทศแถบยุโรปค่อนข้างเติบโตเช่นกัน เพียงแต่เทคโนโลยีบางอย่างยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนา ส่วนการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความน่าสนใจ แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีหรือความเข้าใจในบล็อกเชน

157641756937

(ภาพ เทคโนโลยีชุดฮาร์ดแวร์บล็อกเชนที่ส่งไปทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติ)


จากการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายบริษัท ทำให้การทำงานง่ายขึ้น อาทิ การสร้างระบบนิเวศเชื่อมโยงนักธุรกิจ นักพัฒนาและผู้บริโภคนับล้านคนกับเทคโนโลยีอวกาศและบล็อกเชนให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนเหตุที่สนใจตลาดในไทย เนื่องจากมีการจัดสัมมนาด้านเทคโนโลยีอวกาศและบล็อกเชนบ่อยครั้ง บ่งบอกว่า คนไทยให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น


“เราได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ และผู้ประกอบการด้านการแลกเปลี่ยนอัตราค่าเงิน จึงทำให้การเข้ามาสู่ตลาดไทยเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินความสามารถ ทั้งยังต้องการทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงด้านข้อมูลทางการเงิน ขณะเดียวกันคู่แข่งในการตลาดนั้นมีจำนวนมาก แต่เราเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำสิ่งนี้สำเร็จ เพื่อทำให้ธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าง่ายยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ทุกองค์กรต่างก็ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีของสเปซเชน” ซี เจิ้ง กล่าวทิ้งท้าย