มหากาพย์ 'สร้างรัฐสภาใหม่' ปัญหา-ค่าโง่-ความรับผิดชอบ?

มหากาพย์ 'สร้างรัฐสภาใหม่' ปัญหา-ค่าโง่-ความรับผิดชอบ?

การขยายสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่รอบที่ 4 ออกไปอีก 1 ปีเศษ จะเป็นรอบสุดท้ายจริงหรือไม่? หรือจะกลายเป็นมหากาพย์ที่อาจซ้ำรอยเหตุการณ์ "ค่าโง่" หลายโครงการในอดีต

โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" อันหมายถึง "สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย" บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย เนื้อที่รวม 123 ไร่ 1 งานเศษ ล่าสุดกำลังถูกตั้งคำถามถึงความ(ไม่)คืบหน้าในการก่อสร้าง

หลังจากที่เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา "สรศักดิ์ เพียรเวช" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการรัฐสภา ได้ลงนามขยายสัญญาการก่อสร้าง จากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้ ออกไปเป็นรอบที่ 4 อีก 382 วัน (16 ธ.ค.2562-31 ธ.ค.2563) หรืออีก 1 ปีเศษ

โดยอ้าง 2 เหตุผล คือ ความล่าช้าของงบประมาณเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จึงทำให้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างล่าช้า และความล่าช้าจากการหาผู้รับเหมางานสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ งานประกอบอาคาร และภายนอกอาคาร

ประเด็นดังกล่าวตามมาด้วยข้อเคลือบแคลง จนมีคำถามจากสังคม โดยเฉพาะ "ความโปร่งใส" ของการต่อสัญญาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อาจมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

157634848148

โดยเฉพาะในมุมของอดีตมือปราบประจำสภาฯ อย่าง "วิลาศ จันทร์พิทักษ์" อดีตประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มองว่า ไม่ควรต่อสัญญาการก่อสร้าง แต่ควรให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าปรับ ซึ่งตามสัญญาต้องจ่าย 12.28 ล้านบาทต่อวัน

157637504121
(คลิกอ่านข่าว : 'วิลาศ' ชำแหละพิรุธขยายสัญญา)

  

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ได้มีการขยายสัญญาก่อสร้างด้วยเหตุผลลักษณะเดียวกันถึง 3 ครั้ง 

ครั้งที่ 1 จำนวน 387 วัน (25 พ.ย.2558-15 ธ.ค.2559 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้เหตุผลว่า ผู้ว่าจ้างส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและปัญหาอุปสรรคการนำดินขุดที่เหลือใช้จากการก่อสร้างเสาเข็มนำออกไปไว้นอกโครงการก่อสร้าง

ครั้งที่ 2 จำนวน 421 วัน (16 ธ.ค.2559-9 ก.พ.2561) ด้วยเหตุผลความล่าช้าในการย้ายดินขุด เพื่อก่อสร้างชั้นใต้ดิน และครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน (10 ก.พ.2561-15 ธ.ค.2562) จากปัญหาอุปสรรคความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ครั้งที่ 4 บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ พื้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 กทม. พื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และพื้นที่บ้านพักข้าราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร

157634855811

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ ย่อมส่งผลถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะนับตั้งแต่สภาฯได้เซ็นสัญญากับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสนอราคาก่อสร้างและอาคารประกอบต่ำสุดที่ 12,280 ล้านบาท (เฉพาะงานอาคาร/สถาปัตยกรรม/งานภายนอก) นำไปสู่การลงนามร่วมกัน ในวันที่ 30 เม.ย.2556 จากนั้นสภาฯ ได้ขอเพิ่มงบฯ ก่อสร้างอีกหลายครั้ง 

15 พ.ค.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มงบ 512 ล้านบาท (จากที่สภาฯ เสนอ 8,648 ล้านบาท ตีกลับงบฯ ไอที 8,135 ล้านบาท)

20 ส.ค. 2561 ครม.อนุมัติเพิ่มงบอีก 4,000 ล้าน (ในส่วนของงบไอที) ยังไม่นับรวมกับที่สภาฯ เตรียมแปรญัตติขอเพิ่มงบฯ ในปี 2563 โดยจะเสนอรายละเอียดต่อ กมธ.งบประมาณในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีมูลค่าอีกเท่าไร

สำหรับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2536 สมัยที่  "ชวน หลีกภัย" เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มต้นจากการหาที่ตั้ง ไปจนถึงการก่อสร้าง นับจนถึงขณะนี้ได้ล่วงเลยมาแล้ว 26 ปี 

ขณะที่กระบวนการก่อสร้าง หากนับตั้งแต่วันเริ่มต้น 8 มิ.ย.2556 ไปจนถึงวันขยายสัญญาครั้งที่ 4 ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในช่วงปลายปี 2563 เท่ากับว่า ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 7 ปี

จากปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ยังไร้คำตอบที่ชัดเจนจากสภาฯ ว่า การขยายสัญญาในรอบนี้จะเป็นรอบสุดท้ายจริงหรือไม่? และงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มลงไปกับความล่าช้าที่เกิดขึ้น จนกลายเป็น "มหากาพย์รัฐสภาใหม่"  ที่อาจซ้ำรอยเหตุการณ์ "ค่าโง่" หลายโครงการในอดีต

ย่อมตามมาด้วยคำถามที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วใครต้องรับผิดชอบ?