เผย 'กสทช.' เปิดประมูล 5G ก.พ.63 ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

เผย 'กสทช.' เปิดประมูล 5G ก.พ.63 ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

“เศรษฐพงค์” เผย “กสทช.” เปิดประมูล 5G ก.พ.63 ชี้ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจดิจิทัล-การท่องเที่ยว หนุน “กสทช.” เปิดราคาประมูลเหมาะสม ทำให้ ปชช. ได้ใช้บริการทั่วถึง-ราคาเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวถึงความพร้อมในการประมูลคลื่น 5G ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกหลักเกณฑ์มาแล้ว ว่า การประมูลครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ทราบว่าทางกสทช. ได้กำหนดจัดประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยเป็นการประมูลใน 4 ย่านคลื่นความถี่และได้กำหนดราคาเริ่มต้นไว้แล้ว ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 2.คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 3. คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท และ4. คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งประกาศเกี่ยวกับการประมูลต่างๆ มีเผยแพร่อยู่ทางเว็ปไซต์ของกสทช.แล้ว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จากการกำหนดราคาของสำนักงาน กสทช. ตนเองเห็นด้วยว่าเป็นราคาที่มีความเหมาะสม ไม่ใช่เป็นราคาที่ถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งหากแพงไปจะทำให้ผู้ให้บริการหรือ operator ที่ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องนำเงินมากองไว้ที่ค่าประมูล ทำให้ไม่มีเงินที่จะไปลงทุนในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเสา การเดินสาย ฯลฯ ทำให้การดำเนินการทางธุรกิจเกิดความล่าช้า และอาจจะขาดทุนจนเดินไปต่อไม่ได้ ถึงตอนนั้น ผู้ที่เสียประโยชน์จริงๆ จะกลายเป็นประชาชนผู้ใช้บริการ จึงอยากฝากทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องการประมูล 5G อย่าเข้าใจผิดว่าต้องประมูลราคาสูงๆ เพื่อเอาเงินเข้ารัฐ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

“การประมูลที่ทำราคาสูงๆ เพื่อให้ได้เงินเข้าคลังจำนวนมากๆ อาจจะดูดี แต่ตามหลักสากลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) บอกหลักการชัดเจน คือไม่ใช่การประมูลแพงเพื่อเอาเงินเข้ารัฐ แต่ต้องเป็นการประมูลในราคาที่เหมาะสมในแต่ละคลื่นความถี่ โดยมีการคำนวณราคาตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้อง ดังนั้นราคาที่ไม่แพงเกินไป จะทำให้ Operator มีเงินลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ตามมาเมื่อมีการประมูลในราคาที่เหมาะสม คือ การลงทุนของ Operator จะทำได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่า 5G ในช่วงเริ่มแรกจะมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ EEC หรือพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ในส่วนของเงินค่าการประมูลที่จะต้องนำเข้าคลังนั้น หากจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รัฐควรแบ่งเงินนำมาไว้ในกองทุนหรือการลงทุนในด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษา การสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกล้องCCTV เรื่องการสัญจรทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ตรงนี้จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จึงเห็นว่าไม่ควรนำเงินที่ได้ไปละลายเป็นงบประมาณทั่วๆไป โดยไม่มีวัตถุประสงค์ด้านดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง