เผย 'กสทช.' เปิดประมูล 5G ก.พ.63 ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

“เศรษฐพงค์” เผย “กสทช.” เปิดประมูล 5G ก.พ.63 ชี้ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจดิจิทัล-การท่องเที่ยว หนุน “กสทช.” เปิดราคาประมูลเหมาะสม ทำให้ ปชช. ได้ใช้บริการทั่วถึง-ราคาเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวถึงความพร้อมในการประมูลคลื่น 5G ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกหลักเกณฑ์มาแล้ว ว่า การประมูลครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ทราบว่าทางกสทช. ได้กำหนดจัดประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยเป็นการประมูลใน 4 ย่านคลื่นความถี่และได้กำหนดราคาเริ่มต้นไว้แล้ว ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 2.คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 3. คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท และ4. คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งประกาศเกี่ยวกับการประมูลต่างๆ มีเผยแพร่อยู่ทางเว็ปไซต์ของกสทช.แล้ว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จากการกำหนดราคาของสำนักงาน กสทช. ตนเองเห็นด้วยว่าเป็นราคาที่มีความเหมาะสม ไม่ใช่เป็นราคาที่ถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งหากแพงไปจะทำให้ผู้ให้บริการหรือ operator ที่ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องนำเงินมากองไว้ที่ค่าประมูล ทำให้ไม่มีเงินที่จะไปลงทุนในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเสา การเดินสาย ฯลฯ ทำให้การดำเนินการทางธุรกิจเกิดความล่าช้า และอาจจะขาดทุนจนเดินไปต่อไม่ได้ ถึงตอนนั้น ผู้ที่เสียประโยชน์จริงๆ จะกลายเป็นประชาชนผู้ใช้บริการ จึงอยากฝากทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องการประมูล 5G อย่าเข้าใจผิดว่าต้องประมูลราคาสูงๆ เพื่อเอาเงินเข้ารัฐ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
“การประมูลที่ทำราคาสูงๆ เพื่อให้ได้เงินเข้าคลังจำนวนมากๆ อาจจะดูดี แต่ตามหลักสากลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) บอกหลักการชัดเจน คือไม่ใช่การประมูลแพงเพื่อเอาเงินเข้ารัฐ แต่ต้องเป็นการประมูลในราคาที่เหมาะสมในแต่ละคลื่นความถี่ โดยมีการคำนวณราคาตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้อง ดังนั้นราคาที่ไม่แพงเกินไป จะทำให้ Operator มีเงินลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ตามมาเมื่อมีการประมูลในราคาที่เหมาะสม คือ การลงทุนของ Operator จะทำได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่า 5G ในช่วงเริ่มแรกจะมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ EEC หรือพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ในส่วนของเงินค่าการประมูลที่จะต้องนำเข้าคลังนั้น หากจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รัฐควรแบ่งเงินนำมาไว้ในกองทุนหรือการลงทุนในด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษา การสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกล้องCCTV เรื่องการสัญจรทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ตรงนี้จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จึงเห็นว่าไม่ควรนำเงินที่ได้ไปละลายเป็นงบประมาณทั่วๆไป โดยไม่มีวัตถุประสงค์ด้านดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021