MTC & SAWAD 2หุ้น 'บลูชิพ' พารวย !

MTC & SAWAD 2หุ้น 'บลูชิพ' พารวย !

เศรษฐกิจแย่ ดอกเบี้ยขาลง ! ผลักดันความสวยหุ้น MTC & SAWAD สองหุ้นบลูชิพ 'เสน่ห์แรง' สะท้อนผ่านมาร์เก็ตแคประดับ 'แสนล้าน' แถมต้นทุนการเงิน 'ธุรกิจนอนแบงก์ต่ำ' การันตีผลงานรายได้-กำไร New High ต่อเนื่อง

เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ 'ซบเซา' อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 'ขาลง' สืบเนื่องจากผลกระทบจาก 'สงครามการค้า' ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน สารพัดปัจจัยลบต่างๆ อาจจะเป็นหนึ่งชนวนเหตุก่อกวนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น 'ไม่สวยหรู !' ตลอดปี 2562 สอดคล้องกับตัวเลขสัดส่วน 'นักลงทุนรีเทล' (รายย่อย) ถอยทัพออกจากตลาดหุ้นจำนวนมาก หลัง 'ผลตอบแทนลงทุน' (Return) ไม่ดึงดูดใจ แถมสถานการณ์ตลาดหุ้นยัง 'เล่นยาก' อีกด้วย 

มีลบก็ต้องมีบวก ! เป็นสัจธรรมของโลก เฉกเช่นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่มีขนาดขนาดกลางถึงเล็กในช่วงที่ผ่านมา หาจังหวะลงทุนค่อนข้างยาก แต่พบว่าหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า 'Big Cap' (ขนาดใหญ่) ที่หลักๆ อยู่ใน SET 50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเป็นหุ้นในกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองว่าเป็น 'หุ้นพื้นฐานดี' (Blue-chip) มาแล้ว ! จึงเป็นทางเลือกชั้นดีที่นักลงทุนเลือกลงทุนในภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง ! 

และกลุ่มธุรกิจที่เติบโต 'โดดเด่น' หนีไม่พ้นหุ้น 'กลุ่มนอนแบงก์' บ่งชี้ผ่านการเติบโตทั้งในแง่ของ รายได้ กำไรสุทธิ ราคาหุ้น หนึ่งในนั้นต้องมี '2 หุ้นนอนแบงก์' ที่ธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นรายได้-กำไรสุทธิเติบโตทุบ 'สถิติสูงสุด' (New High) แทบทุกไตรมาส คือ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ผู้ประกอบการ ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล ของ 'ตระกูลเพ็ชรอำไพ' และ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยของ 'ตระกูลแก้วบุตตา'   

หากย้อนกลับไปดูช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า หุ้นกลุ่มนอนแบงก์มีผลประกอบการเติบโตโดดเด่นมาตลอด สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) พบว่า มีอัตราการเติบโตตัวเลข 'สองหลัก' ต่อเนื่อง 'หุ้น MTC' มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 1,464.14 ล้านบาท 2,500.60 ล้านบาท 3,713.39 ล้านบาท และมี 'รายได้' อยู่ที่ 4,472 ล้านบาท 7,470.99 ล้านบาท 10,416.46 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 3,106.54 ล้านบาท และรายได้ 9,232.96 ล้านบาท 

ขณะที่ 'หุ้น SAWAD' มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,004.62 ล้านบาท 2,666.60 ล้านบาท 2,768.36 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 5,335.35 ล้านบาท 6,998.69 ล้านบาท 7,881.32 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2562 กำไรสุทธิ 2,663.90 ล้านบาท และรายได้ 7,034.83 ล้านบาท  ตามลำดับ  

1576245965100

สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย 'ชะลอตัว' บ่งชี้ผ่านตัวเลข 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี' ของไทยที่เติบโต 'ระดับต่ำ' ขณะที่ 'หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้' (NPL) ภาคครัวเรือนอยู่ใน 'ระดับสูง' ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการกำกับดูแลไม่ให้ 'ภาคครัวเรือน' ก่อหนี้สินเกินตัว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาบรรดาสถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น หลังตัวเลข NPL ยังสูง 

ทว่า ถือเป็น 'ปัจจัยบวก' ที่เข้ามาสร้าง 'แรงดึงดูด' หุ้นกลุ่มนอนแบงก์ สะท้อนผ่านราคาหุ้นนอนแบงก์ 'ปรับตัวขึ้น' สวนทิศทางตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสวิง... ! 

หากพิจารณา '2 หุ้นเด่น' ในกลุ่มดังกล่าว อย่าง หุ้น MTC และ SAWAD ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน (11 ธ.ค.2562) พบว่าราคาหุ้นปรับขึ้นมาตลอด โดย 'ผลตอบแทนจากราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปี' (Year to date) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.38% และ 35.5% ในแง่ของผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2559-ปัจจุบัน) 143.72% และ 47.87% ตามลำดับ    

ขณะที่ ตัวเลข 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap ของหุ้น MTC และ SAWAD ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ! หากเทียบกับปี 2561 โดยมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่  124,020 ล้านบาท และ 80,839.99 ล้านบาท (11 ธ.ค.2562) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ 103,880 ล้านบาท และ 51,649.72 ล้านบาท ตามลำดับ 

'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC เล่าให้ฟังว่า ในช่วงทิศทางอัตราดอกเบี้ย 'ขาลง' จะส่งผลดีแก่ต้นทุนการเงินของบริษัท โดยเฉพาะวงเงินกู้ชุดใหม่ที่จะออกช่วงที่เหลือของปี 2562 ที่จะมี 'อัตราดอกเบี้ยต่ำลง !' โดยในสิ้นปีนี้จะออกหุ้นกู้ราว 5,000ล้านบาท เพื่อชำระหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนด และลดต้นทุนดอกเบี้ยลง จากเดิมเฉลี่ยอยู่ 3.5% โดยคาดว่าจะลดลงได้อีก 0.15%

ขณะที่ ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่เติบโตดีที่สุด เนื่องจากเข้า 'ไฮซีซั่น' ของธุรกิจที่มีวันหยุดเทศกาลค่อนข้างเยอะ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยที่สูง มั่นใจว่าจะสนับสนุนให้กำไรสุทธิปีนี้ทำสถิติใหม่ 'สูงสุด' (New High) ในประวัติการณ์ได้ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ทำได้ 3,710 ล้านบาท รวมทั้งรายได้และยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2562 เติบโตได้ 25-30%สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 นั้น บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรสุทธิเติบโต 'ระดับ 20-30%' 

สอดคล้องไปกับยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เติบโตขึ้น และการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม บ่งชี้บริษัทจะขยายสาขาใหม่อีก 600 สาขา เพื่อให้ครอบคุลมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุน 4-5 แสนบาทต่อสาขา 

'การดำเนินธุรกิจในปีหน้า ไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากการแข่งขันมีแนวโน้มไม่รุนแรง โดยเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจในปีหน้าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินงาน ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ และจำนวนลูกค้าใหม่ รวมทั้งจะรักษาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ที่ระดับ 1.1% และไม่ให้เกิน 2%'

ส่วนกรณีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนเปิดโครงการรีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดีของบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียงระดับ 7-12% จากอัตราดอกเบี้ยปกติที่ระดับ 18-28% สำหรับลูกหนี้ที่เข้าโครงการฯ ทั้งนี้จากโครงการดังกล่าวบริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ทุกประการ 

'ในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ยังมั่นใจในผลการดำเนินงาน ซึ่งน่าจะเป็นไปตามทิศทางที่ได้สื่อสารไว้กับนักลงทุน โดยพอร์ตสินเชื่อประมาณการว่าจะเติบโต จากงวดเดียวกันปีก่อนในอัตรา 25-30% และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อยังคงเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าจะทำนิวไฮอีกครั้ง ขณะที่บริษัทฯยังสามารถควบคุมอัตราส่วนหนี้เสียของพอร์ตสินเชื่อให้อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่เกิน 1.5% แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วไปอยู่ในสภาวะถดถอย'

'ธิดา แก้วบุตตา' ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD บอกว่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ มองว่าจะช่วยให้บริษัทปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยบริษัทจะเน้นการเปิดสาขาแห่งใหม่ ซึ่งคาดในสิ้นปี 2562 จะมีจำนวนสาขาเป็นจำนวน 3,600 สาขา 

'ในช่วงอีก 2-3 ปี จะขยายสาขาเป็น 4,200 สาขา ซึ่งจะเน้นการเปิดสาขาในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้จะเน้นให้บริการลูกค้าแบบใกล้ชิดและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสม'

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 บริษัทมีนโยบายจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL (Non Performing Loan) ไว้ที่ระดับไม่เกิน 3-6% จากสิ้นปี 2562 ที่คาดจะอยู่ที่ระดับ 4% โดยบริษัทไม่ได้มีความกังวลว่า NPL จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

เนื่องจากมีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และมีการทวงหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดสอดคล้องกับในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562  ตัวเลข NPL ปรับตัวลดลงเหลือระดับ 4.31% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มี NPL ในระดับ 5.02% เนื่องจากบริษัทมีระบบการบริหารหนี้และติดตามหนี้มีประสิทธิภาพ ขณะที่มีหนี้สูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 164.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.27 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ

157624602591

'การดูแลลูกค้าที่ผิดนัดชำระ SAWAD จะเน้นการเจรจา และมีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้าทั้งหมดอยู่ในช่วงเวลาการค้างชำระสูงสุดไม่เกิน 90 วัน'

เธอ บอกต่อว่า ในไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีแผนจะออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ชุดเดิม และรองรับการขยายธุรกิจ เนื่องจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ใน 'ระดับต่ำ' ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินการจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทลดลง และจะส่งผลต่องบการเงินของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดใหม่จะมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2-4% และมีอายุ 2-3 ปี

นอกจากนี้ บริษัทคาดในปีหน้าจะมีรายได้จาก 'ธุรกิจนายหน้าขายประกัน' ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2562 ที่คาดจะขายได้ประมาณหลักสิบล้านบาท โดยบริษัทวางกลยุทธ์ที่จะเป็นนายหน้าขายประกันให้กับลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทสำหรับ เป้าหมายปี 2563 คาดรายได้เติบโตประมาณ 20-30% จากปี 2562 และคาดจะมียอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเติบโต 20-30% จากการปล่อยสินเชื่อที่ดิน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก ประมาณ 300 แห่ง จากปี 2562 ที่คาดว่าจะมีสาขาให้บริการ 3,600 สาขา 

'ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น' ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย ภายใต้เครื่องหมายบริการ 'ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ' ประกอบด้วย 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.สินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันประเภท ทะเบียนรถเก่าทุกประเภท บ้านและโฉนดที่ดิน 2.สินเชื่อรายย่อยแบบไม่มีหลักประกันภายใต้การกำกับ 3.บริหารสินทรัพย์ 4.รับจ้างติดตามหนี้ 5.บริการที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจสินเชื่อ 

'หุ้นบัตรเครดิต' เจอแรงกดดัน 

จากรายงานข่าว ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างศึกษาโครงการรีไฟแนนซ์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และช่วยไม่ให้ลูกหนี้ดีตกชั้นเป็นหนี้เสีย เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระ ชำระล่าช้าจากลูกหนี้ดีที่ชำระปกติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อกำหนดรูปแบบโครงการต่างๆให้ชัดเจนอีกครั้ง คาดจะประกาศใช้ได้ภายในต้นปี 2563 นั้น 

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มองมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อหุ้น KTC และ หุ้น AEONTS ค่อนข้างจำกัด ภายใต้สมมุติฐานหลัก ดังนี้ 1.มาตรการดังกล่าวมีผลต่อลูกหนี้ในระบบ 1 หมื่นล้านบาท (คำนวณจาก 1 แสนบาทต่อคน จำนวน 1 แสนคน 2.การรีไฟแนนซ์เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินมาเท่านั้น และ 3.อัตราดอกเบี้ยของหนี้รีไฟแนนซ์อยู่ที่ 7% p.a. เพื่อประเมิน Worst Case Scenario

จากข้อมูลของ ธปท. พบว่ามูลค่าลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรวม (ไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียน) ณ เดือน ก.ย. 2562 อยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต 4 แสนล้านบาท และลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 5.6 แสนล้านบาท ดังนั้น หากพิจารณาส่วนแบ่งทางการตลาดตามสัดส่วนของลูกหนี้คงค้างพบว่า KTC และ AEONTS มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 9.3% 

ทั้งนี้ ทำให้คาดผลกระทบของการรีไฟแนนซ์ลูกหนี้ชั้นดี  1 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท จะกระทบต่อลูกหนี้ของ KTC และ AEONTS ตามส่วนแบ่งการตลาดที่ 9.3% อยู่ที่ 933 ล้านบาท และ 931 ล้านบาท และส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกหนี้กลุ่มนี้ลดลง (ลดจาก Asset Yield เดิม เหลือ 7%) 97 ล้านบาท และ 143 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังกำไรสุทธิของ KTC และ AEONTS ให้มี Downside ราว 1.3% จากประมาณการเดิม

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่แท้จริงอาจน้อยกว่าที่ประเมินเนื่องจาก 1.พฤติกรรมลูกหนี้ที่มีการจ่ายชำระต่อเนื่องส่วนใหญ่จะใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นเท่านั้น 2. ลูกหนี้อาจไม่ให้ความสนใจโครงการดังกล่าวมากเท่าที่ตลาดกังวล เพราะหากโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขใกล้เคียงกับโครงการ 'คลินิคแก้หนี้' ที่ ธปท. ออกมาก่อนหน้า ลูกหนี้จะถูกห้ามก่อหนี้ใหม่ในช่วงเวลา 5 ปีนับจากเข้าโครงการ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้เสียสภาพคล่องไปมาก

ทั้งนี้การประเมินผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น การวิเคราะห์เชิงลึกต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง 

ในแง่คำแนะนำ มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็น 'ปัจจัยกดดัน' เชิง Sentiment ระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ระยะยาวเราให้น้ำหนักกับการเติบโตของสินเชื่อที่จำกัดมากขึ้น ทำให้ยังคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มไฟแนนซ์ 'น้อยกว่าตลาด' และเลือก AEONTS เป็น Top Pick ของกลุ่ม โดยคาดกำไรปี 2562/2563 โต 19.4% จากปีก่อน อีกทั้ง Valuation ยังถูกกว่ากลุ่มมากโดยปัจจุบันซื้อขายที่ PBV 2.4x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 5.4x

บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า โครงการรีไฟแนนซ์ของธปท. แม้อยู่ในช่วงศึกษาและคาดว่าจะมีความชัดเจนต้นปีหน้า มีโอกาสเป็น 'ปัจจัยลบ' ต่อกลุ่มบัตรเครดิตแน่นอน เนื่องจากดอกเบี้ยของโครงการอยู่ที่ 7-12% ขณะที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดอยู่ที่ 18-28% อาจกระทบต่อรายได้ หรือหากเป็นกรณีที่ธปท. ค้ำกันหนี้ให้ แต่ประโยชน์ที่หุ้นกลุ่มบัตรเครดิตจะได้เทียบกับรายได้ที่ลดลงก็อาจไม่คุ้มค่า 

'ประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อบรรยากาศเชิงลบต่อหุ้นการเงิน แต่มองว่าภาพรวมระยะยาวจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ จึงต้องจับตาหุ้น KTC ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิตถึง 60% และ หุ้น AEONTS เบื้องต้นคงต้องรอดูความชัดเจนในรายละเอียดของโครงการก่อน'