“ไออาร์พีซี”หนุนซีโรเวสต์ แก้ขยะพลาสติกครบวงจร

“ไออาร์พีซี”หนุนซีโรเวสต์  แก้ขยะพลาสติกครบวงจร

ปัญหาขยะพลาสติกในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นปัญหาที่เรื้อรัง หากไม่ได้รับการแก้ไขจะรุนแรงขึ้น ในขณะที่วิกฤติขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว

นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในอีอีซี มีปัญหาขยะพลาสติกสะสมมานาน รวมทั้งอนาคตจะมีประชากรและภาคอุตสาหกรรมขยายมาในพื้นที่ ยิ่งทำให้ปัญหาขยะพลาสติกมีความรุนแรงมากขึ้น 

ดังนั้นในฐานะที่ ไออาร์พีซี เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ จึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้เต็มตัว โดยได้ผลักดันโครงการ Zero Waste เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่กำจัดขยะพลาสติกให้เหลือศูนย์ ผ่านกระบวนการ 3 R (Reduce Reuse Recycle)

มีโครงการหลัก ได้แก่ การขยายโรงงานแปรรูปขยะพลาสติกผ่านกระบวนการไพโรไรซิสให้เป็นน้ำมันดิบ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 1 แสนลิตรต่อเดือน เพิ่มเป็น 4 แสนลิตรต่อเดือน จะช่วยกำจัดขยะพลาสติกถึง 6,720 ตันต่อปี โดยทยอยรับซื้อขยะพลาสติกมาตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ 

ทั้งนี้ น้ำมันดิบที่ผลิตได้จากขยะพลาสติกจะมีต้นทุนไม่ต่างจากน้ำมันดิบที่นำเข้า และผ่านการรับรองจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพแล้ว ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีปัญหาการขนส่งขยะพลาสติกและมีกระบวนการที่ยุ่งยากกว่า เพราะโรงกลั่นน้ำมันได้ปรับแต่งระบบเพื่อรองรับน้ำมันจากแหล่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง ดังนั้นน้ำมันดิบที่ได้จากการแปรรูปขยะพลาสติกต้องปรับแต่งคุณภาพไม่ให้กระทบกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน

“ที่ผ่านมาการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่ฝังกลบขยะมีจำกัดไม่เพียงพอกับขยะที่เพิ่มขึ้น" 

สำหรับวิธีการเผาต้องมีเทคโนโลยีนวัตกรรมการเผาที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การลงทุนแปรรูปขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของไออาร์พีซี และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

157624325058

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “นำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste” โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทคู่ค้าของไออาร์พีซี เพราะไออาร์พีซีเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกป้อนให้คู่ค้านำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งในกระบวนการผลิตจะมีเศษวัสดุพลาสติกที่เหลือจากการขึ้นรูป ดังนั้น ไออาร์พีซีจึงได้มองระบบบริหารจัดการ เพื่อนำเศษพลาสติกเหล่านี้นำกลับมาใช้ใหม่ให้ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยขั้นต้นได้ร่วมมือกับบริษัทคู่ค้า 10 ราย ทำแพลตฟอร์มการพัฒนาข้อมูลกลางแชร์ให้ทุกโรงงานเห็นว่า แต่ละโรงงานมีเศษพลาสติกเหลือทิ้งชนิดใดและปริมาณเท่าไร เพื่อให้โรงงานในเครือข่ายซื้อเศษพลาสติกไปรีไซเคิลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งไออาร์พีซีจะช่วยบริษัทคู่ค้าปรับปรุงระบบการรีไซเคิล และพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

“ปี 2563 ไออาร์พีซี จะสร้างฐานข้อมูลจัดทำเป็น Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมข้อมูล Waste polymer จากแหล่งผลิตแต่ละโรงงาน ซึ่งลูกค้าจะเข้าถึงข้อมูลได้ และต่อยอดนำไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกจากต้นทาง ไม่ปล่อยของเสียออกนอกระบบ”

ส่วนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาวางมาตรฐานโรงงานรีไซเคิลพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล รวมทั้งรับรองมาตรฐานนี้ เพราะปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเติบโตเร็วมาก ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปต้องการเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์กลาสติกที่มีส่วนของพลาสติกรีไซเคิลสูง

แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานหรือมาตรฐานรับรองว่าเม็ดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ผลิตจากขยะพลาสติกจริงหรือไม่ และมีสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นการที่ไทยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานเหล่านี้ จะทำให้สินค้าพลาสติกรีไซเคิลของไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น

“ในปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรปต้องการพลาสติกรีไซเคิลสูงมาก โดยเบรนด์เนมชั้นนำต่างใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแทบทั้งสิ้น" 

หากไทยมีหน่วยงานกลางรับรองพลาสติกรีไซเคิลจะทำให้คู่ค้ามั่นใจและสั่งสินค้าเพิ่ม และส่งผลทางอ้อมให้มีการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีทั้งผู้ผลิตที่ขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น และช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกภายในประเทศ โดยไออาร์พีซีพร้อมที่จะเป็นโรงงานแรกให้ตรวจสอบ”

สำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 100% ของไออาร์พีซี ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มี 100 ตัน เพราะมีขยะพลาสติกน้อยแต่ตลาดต้องการมาก ส่วนกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกผสมพลาสติกรีไซเคิลมีกำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปี ดังนั้นจึงรองรับเศษขยะพลาสติกได้อีกมาก

“ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เห็นความสำคัญถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก เพราะใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย และปัจจุบันมีการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด" 

ไออาร์พีซี ได้สนับสนุนการใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะพลาสติกเป็นการส่งเสริมการลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน นับเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561–2573 ให้บรรลุสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100 % ภายในปี 2570

157638636846