Green Pulse I มายาคติของการ “รีไซเคิล”

Green Pulse I มายาคติของการ “รีไซเคิล”

แม้จะมีความพยายามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยกำจัดขยะพลาสติกหลังจากเรียนรู้แล้วว่า มันได้สร้างปัญหาให้กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมายเพียงไร ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก หากพลาสติกยังคงถูกผลิตและถูกใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง

และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่กำลังความสามารถในการกำจัดขยะเหล่านี้ยังคงเป็นที่กังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การรีไซเคิล” ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังมากที่สุดของการกำจัดขยะพลาสติก

“การรีไซเคิล” และมายาคติแวดล้อม เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการรวมตัวของกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 1,500 องค์กรทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2016 (พ.ศ.2559) ในนามกลุ่ม Break Free From Plastic (BEFP) ที่ได้เริ่มตั้งคำถามถึงมาตรการการกำจัดขยะพลาสติกโดยการ “รีไซเคิล” ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาคธุรกิจเอกชนอย่างกว้างขวางทั่วโลก

ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในกระบวนการรีไซเคิลที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่เรื่องการปนเปื้อนและการตกค้างของสารพิษในสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อสุขภาพ และประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลที่ดูเหมือนจะไม่เท่าทันขนาดของปัญหาที่มีมานับตั้งแต่ ทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ. 2493)

และที่สำคัญคือ มุมมองทางธุรกิจและการเมืองที่หมายถึงการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบที่แท้จริงจากปัญหาที่ได้ก่อ คือการผลิตพลาสติกในอุตสาหกรรมอย่างไม่จำกัด โดยตัวแทนขององค์กรเหล่านี้ รวมถึง Greenpeace และ องค์กรจากเยอรมนีอย่าง Heinrich Boll Stiftung (HBF) ได้ตั้งคำถามเอาไว้อย่างแหลมคมอีกครั้งในงานเปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “Plastic Atlas” ซึ่งจัดทำโดย ประธานของ HBF คุณบาร์บารา อุนมูบิก และ คุณสติฟ วิลสัน หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการของ BFFP

โดยรายงาน Plastic Atlasได้อัพเดทสถานการณ์และสถิติตัวเลขวงจรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำคือการผลิต จนถึงปลายน้ำที่มันกลายเป็นขยะปนเปื้อนอยู่ในดินและในทะเล และทบทวนประวัติศาสตร์ของพลาสติกจนถึงสถานภาพในปัจจุบัน ซึ่งรายงานดังกล่าวพบว่า นับตั้งแต่มีการค้นพบพลาสติกและนำมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1950 จนถึง ปี 2017, มีพลาสติกกว่า 9,200 ล้านตันที่ถูกผลิตขึ้นและนำมาใช้ในโลกนี้ โดยแนวโน้มของการผลิตพลาสติกยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง แต่กลับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการผลิตโดยเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่กว่า 400 ล้านตันต่อปี และภาคธุรกิจได้วางแผนไว้ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 40% ในทศวรรษหน้า

Plastic Atlas พบว่า อุตสาหกรรมพลาสติกที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบ 40% (158/ 438 ล้านตัน ในปี 2017) ตามมาด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง (71 ล้านตัน) และสิ่งทอ (62 ล้านตัน) ซึ่งในขณะที่แนวโน้มของการผลิตพลาสติกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากการกำจัดพลาสติกที่เกือบครึ่งถูกระบุว่ากลายเป็นขยะในเวลาไม่ถึงเดือนเพราะเป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเป็นส่วนใหญ่ ยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพราะถูกพบว่า มีเพียง 14% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ในขณะที่อีก 10 ล้านตันโดยเฉลี่ยไหลลงสู่ทะเลในแต่ละปี และอีกจำนวนมากตกค้างในสิ่งแวดล้อมและบ่อขยะ

และล่าสุด เกิดกรณีการส่งออกขยะพลาสติกจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปกำจัดยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบว่า มีการส่งขยะพลาสติกมายังประเทศในภูมิภาคเหล่านี้อย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะสองถึงสามปีที่ผ่านมา หลังจากที่จีนปฏิเสธที่จะรับการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศเหล่านั้น ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ถูกระบุ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี

บาร์บาร่า กล่าวว่า เรื่องขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งรายงาน Plastic Atlasพยายามที่จะเปิดเผยมายาคติที่เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภค จนขยะพลาสติกกลายมาเป็นวิกฤติไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกเอง เป็นหนึ่งในตัวการปลดปล่อยคาร์บอนซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่า 10% ของปริมาณคาร์บอนที่จะอนุญาตให้ปลดปล่อยได้ในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เพราะพลาสติกมีต้นกำเนิดมาจาก fossil fuelsไม่ต่างจากน้ำมันและก๊าซนั่นเอง

ในขณะที่พลาสติกกลายมาเป็นความท้าทายใหม่ของโลก ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้กลับพบว่า ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจและการเมืองทำให้เกิดมายาภาพของพลาสติกที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือการที่ผู้ผลิตพยายามล๊อบบี้ทางการเมืองและทางธุรกิจ เบี่ยงเบนความรับผิดชอบไปที่ผู้บริโภคและ “การรีไซเคิล” ให้เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยรายงานยกตัวอย่างการกระทำดังกล่าวว่า แค่เพียง American Chemistry Council เพียงสถาบันเดียว ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ผลิตเคมีและพลาสติกรายใหญ่ของโลกกว่า 150 บริษัท ได้ใช้เงินถึงกว่า US $ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯไปในการล๊อบบี้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2009

“ถ้าเราจะพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบัน เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงแหล่งที่มาของมัน ซึ่งหมายรวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงวงจรชีวิตของพลาสติกทั้งวงจร” บาร์บาร่ากล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอของบาร์บาร่า เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอในรายงานและของกลุ่ม BFFP ที่นำเสนอแนวทาง “Zero Waste” ซึ่งหมายถึงการผลิตและการบริโภคที่ไม่เหลือขยะ หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน นั่นเอง และเพื่อทำให้ได้ผล การเน้นการนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด (Reuse and Refill) คือ มาตรการที่จำเป็นและสำคัญมากกกว่า “มายาคติการรีไซเคิล” ที่ทางกลุ่มมองว่ามีความซับซ้อนในตัวของมันเอง และบริษัทจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหรือลดการผลิตพลาสติกลงนั่นเอง

บาร์บาร่า กล่าวว่า แม้จะมีกฏระเบียบต่างๆ ในแต่ละประเทศหรือในภูมิภาคที่จะควบคุมดูแลขยะพลาสติกในเวลานี้ แต่โลกยังขาดข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะเท่าทันสถานการณ์ ซึ่งเธอมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มากที่สุดเพราะกำลังเผชิญปัญหาและความท้าทายจากขยะพลาสติกมากที่สุดในเวลานี้

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอของบาร์บาร่า และเขามองว่า กฏระเบียบที่มีอยู่ทั้งในประเทศและในภูมิภาคในเวลานี้ ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ อาทิ 1995 Basel Ban Amendment ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายสารพิษข้ามประเทศ แต่ทว่า ยังไม่ได้รวมถึงขยะพลาสติก นอกจากมีการพบว่าปนเปื้อนสารพิษ หรือ Asean Framework on Marine Debris ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม ที่ยังมีสภาพเป็นเหมือนถ้อยแถลง ไร้ข้อผูกพันระหว่างประเทศ และการที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องขยะทะเล โดยยังไม่ได้รวมถึงขยะพลาสติก (plastic waste) อย่างชัดเจน

“เราอาจจะมีผู้นำโลกอย่างทรัมป์ หรือปูติน ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันข้อตกลงระหว่างประเทศใหม่ที่มาดูแลเรื่องขยะพลาสติก แต่เราจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้ได้ และเราอาจสามารถผลักดันเรื่องนี้ผ่านรัฐบาลของเรา โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนี้ได้

“เราตามหลังปัญหาอยู่มาก และเราจำเป็นที่จะต้องมีการลงมือทำทางการเมืองมากในเวลานี้” บาร์บาร่ากล่าว

https://www.boell.de/en/plasticatlas