‘สมาคมเหล็ก’หวังโครงการรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ

‘สมาคมเหล็ก’หวังโครงการรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ

ด้านวิษณุเตรียมเสนอนายกฯก่อนเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กยื่นขอรัฐบาลวางกฎใช้เหล็กของผู้ประกอบการไทย 90% ของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รับห่วงผิดกฎการค้าโลก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลักงรับเรื่่องจาก4 สมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบไปด้วยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า นำโดยนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการ สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน เข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ (Local Content)

โดยเสนอให้กำหนดไว้ในข้อกำหนดการประมูลงานของภาครัฐให้มีการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตได้ในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น วัตถุขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป เป็นเหล็กในประเทศไม่น้อยกว่า 90% ของปริมาณเหล็กทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ รวมทั้งเสนอให้พิจารณาใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยสำหรับงานโครงการภาครัฐด้วย

นายวิษณุ กล่าวว่าตนจะนำข้อเสนอของภาคสมาคมฯเหล็กไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยในเรื่องนี้ต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ตัวแทนของภาคเอกชน รวมทั้งสภาวิศวกรรมฐานฯด้วย เพื่อรับฟังข้อมูลรอบด้าน รวมทั้งพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดจากการช่วยเหลือที่อาจจะกระส่งผลไปยังการแทรกแซงตลาดผิดข้อกำหนดขององค์กรการการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากที่สุด

นายประวิทย์กล่าวว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้รับผลกระทบหลายส่วนทั้งจากการทุ่มตลาดของผู้ผลิตเหล็กในบางประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาดเหล็กในไทย ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในจีนที่ส่งออกเหล็กมายังประเทศต่างๆในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยโดยในปัจจุบันกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้น คือมีการผลิตอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 13 ล้านตัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนและไม่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กได้ขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยเฉพาะในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. - นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน)โครงการรถไฟฟ้า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ฯลฯหากมีการกำหนดให้มีการใช้เหล็กจากผู้ผลิตในประเทศไทยซึ่งสามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านคุณภาพและราคาในสัดส่วน 90% ของปริมาณที่ใช้ในแต่ละโครงการซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะช่วยให้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศของอุตสาหกรรมนี้กลับมาอยู่ที่ระดับ 75% ช่วยเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกประมาณ 20,000 คนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

นายทวีศักดิ์ ตั้งเจริญชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย กล่าวว่าปัจจุบันการผลิตเหล็กในประเทศไทยถือว่าได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันได้กับทุกประเทศทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา ซึ่งที่ผ่านพยายามมีการให้ข้อมูลว่าเหล็กของผู้ประกอบการที่ผลิตในประเทศไทยไม่สามารถใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะได้มีการทดสอบและผ่านการวัดคุณภาพและมาตรฐานในด้านต่างๆแล้วยืนยันว่าสามารถที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ทุกโครงการ จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศให้มากขึ้น

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตนจะนำข้อเสนอของภาคสมาคมฯเหล็กไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยในเรื่องนี้ต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ตัวแทนของภาคเอกชน รวมทั้งสภาวิศวกรรมฐานฯด้วย เพื่อรับฟังข้อมูลรอบด้าน รวมทั้งพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดจากการช่วยเหลือที่อาจจะกระส่งผลไปยังการแทรกแซงตลาดผิดข้อกำหนดขององค์กรการการค้าโลกซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากที่สุด