BBL นิวโลว์รอบ 3 ปี นักวิเคราะห์กังวลดีล Permata ไม่ตอบโจทย์อนาคตกลุ่มแบงก์

BBL นิวโลว์รอบ 3 ปี นักวิเคราะห์กังวลดีล Permata ไม่ตอบโจทย์อนาคตกลุ่มแบงก์

หุ้น BBL เปิดกระโดดลงต่อเนื่องอีก 5% ทำจุดต่ำสุดรอบ 3 ปี หลังดีล Permata แพงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์กังวลไม่ตอบโจทย์การปรับตัวสู่ digital banking

หุ้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดการซื้อขายเช้านี้ที่ 157 บาท กระโดดลงต่อเนื่องจากวันก่อนหน้าซึ่งปิดที่ 161.50 บาท ก่อนจะลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 153 บาท หรือลดลงประมาณ 5.2% โดยการลดลงในครั้งนี้เป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 

ความกังวลที่เกิดขึ้นเป็นผลตต่อเนื่องจากการประกาศดีลซื้อกิจการของ Permata Bank (BNLI) ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท สำหรับการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 89.12% โดย BNLI เป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซีย

 

               

 

นางสาวชาลี กือเย็น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ ระบุว่า เรามองว่าการลงทุนรอบนี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อย สำหรับด้านบวก การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารเงินส่วนเกินให้มีประสิทธิภาพ โดยกองทุนขั้นที่ 1 หลังการซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 15.5% จากประมาณ 17% ในปัจจุบัน ช่วยให้กำไรสุทธิ BBL เพิ่มขึ้นประมาณ 7% และทำให้ ROE เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 8.6%

ส่วนด้านลบ Permata Bank ดูไม่เข้ากับกลยุทธ์และไม่ตอบโจทย์ของ BBL ที่จะรุกด้าน Digital Bankingเพราะธุรกิจหลักของ Permata Bank เป็นการทำธุรกรรมธนาคารกับลูกค้าบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% และมีลูกค้าในมือเพียงแค่ 3.5 ล้านบัญชีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจดิจอตอลและดิจิตอลแบงก์ไปอย่างรวดเร็ว และมีแพลทฟอร์มออนไลน์มากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นธนาคารในรูปแบบออนไลน์ และแข่งกับธนาคารแบบดั้งเดิมอย่าง Permata Bank

นอกจากนี้ ด้วยพื้นฐานความถนัดของ BBL เราคิดว่าธนาคารไม่สามารถจะเดินหน้า digital banking ได้โดยไม่มีพันธมิตรมาช่วย และท้ายที่สุดมองว่าดีลนี้เป็นการรวมแพลทฟอร์มการธนาคารแบบดั้งเดิมในสองประเทศเข้าด้วยกันด้วยราคาที่แพงแต่ไม่มีการเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน (synergy) อะไรเลย และไม่เพิ่มอำนาจการแข่งขันให้กับธนาคารทั้ง 2 ทั้งนี้ ด้วยประเด็นหลักที่เรามองคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยระดับที่เหมาะจะเข้าซื้อคือที่ P/BV ประมาณ 0.6 เท่า

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า Permata Bank (BNLI) มีลูกค้าจำนวน 3.5 ล้านราย 332 สาขา และมีตู้ ATM จำนวน 989 เครื่อง โดยมีเงินให้สินเชื่อที่ 2.34 แสนล้านบาท และเงินฝาก 2.59 แสนล้านบาท โดยการเข้าซื้อดังกล่าวจะทำให้ BBL เข้าถึงตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมี GDP ขนาด 1.04 ล้านล้านดอลลาร์

โดยภาพรวมจึงมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาว เพราะปัจจุบัน BBL มีเงินสดในมือเยอะและประเทศไทยเติบโตจำกัด ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและกฎข้อบังคับทำให้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมเติบโตได้ยากมากขึ้น ขณะที่การเข้าซื้อในระดับ 1.77 เท่า ของ P/BV ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับการซื้อขายดีลของกลุ่มธนาคารไทยในอดีตที่อยู่ 1.5 เท่า แต่ถ้าเทียบกับธนาคารในอินโดนีเซียถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ระดับ 1.75 เท่า และเมื่อเทียบกับ Sumitomo ที่เคยซื้อ BTPN ในปี 2556 ที่ระดับสูงถึง 4.91 เท่า

ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการนี้ถือว่าเป็นทางเลือกในการเติบโตของกำไรได้ทันที คาดว่าจะเพิ่มอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิในปี 2563 ราว 8.8% ส่วนด้านต้นทุนจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะไม่ได้มีการปรับรูปแบบสาขา หรือเพิ่มพนักงาน

จากคาดการณ์กำไรของ BNLI ในปี 2563 ที่ 3.4 พันล้านบาท บนจำนวนเงินลงทุน 9 หมื่นล้านบาท หากซื้อครบ 100% จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 3.6% เทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนโดยปกติของ BBL ที่ทำได้ 2%