เทเลนอร์ผนึกดีป้า สกัดบูลลี่ในโลกอินเทอร์เน็ต

เทเลนอร์ผนึกดีป้า สกัดบูลลี่ในโลกอินเทอร์เน็ต

ดีป้า-เทเลนอร์กรุ๊ป-ผู้เชี่ยวชาญเด็กอาเซียน” เสนอผสานความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านกฎหมาย งานวิจัยและการศึกษา สู้การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า เทเลนอร์กรุ๊ป พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานด้านเด็กและการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน ชี้การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์เป็นวาระเร่งด่วนที่ประเทศสมาชิกต้องผสานมือแก้ไขผ่านกรอบความร่วมมือครอบคลุมมิติทางกฎหมาย งานวิจัย และการศึกษา

นางอลิซาเบท แบริ่ง หัวหน้าสายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน เทเลนอร์กรุ๊ป กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระดับโลก กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ ASEAN Stop Cyberbullying Workshop ซึ่งจัดโดยเทเลนอร์กรุ๊ปและดีป้า โดยมีผู้ร่วมประชุมในประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 50 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การกลั่นแกล้งในเด็กเกิดขึ้นมาอย่างช้านานและดูเหมือนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก แต่ด้วยการเติบโตและการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็ก ทำให้การกลั่นแกล้งถูกทำได้อย่างง่ายดายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นถูกขยายตัวและมีความรุนแรงมากกว่าการกลั่นแกล้งในรูปแบบเดิม ขณะที่ความเข้าใจและทัศนคติของเด็ก ผู้ปกครอง ครู และรัฐบาลยังคงไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงกับรูปแบบของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และทำให้หลายครั้งปัญหานี้จบลงที่เหตุการณ์อันน่าเศร้า ในปี 2018 มีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

ในเชิงนโยบาย นอกจากการสนับสนุนให้ประชากรเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล “อย่างปลอดภัย” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรเร่งสนับสนุนไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์ ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้กำหนดให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

157621213611

ดีป้าหนุนใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการสำนักงาน กลุ่มยุทธศาสตรและบริหารแห่งดีป้า กล่าวว่า “พวกเราได้เข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ที่สำคัญคือ เด็กและเยาวชนไทยราว 92.5% อยู่บนโซเชียลมีเดีย และอายุในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ก็เด็กลงเรื่อยๆ โดยเด็กที่สุดคืออายุ 2 ขวบ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไม่รู้เท่าทันและไม่มีเกราะป้องกันอาจทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากภัยทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ไม่เหมาะสม ข่าวปลอมและการคุกคามทางเพศ ดีป้าได้กำหนดพันธกิจในการสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล และหนึ่งพื้นฐานสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลย นั่นก็คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย”

เสนอกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค

จากปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์มีความซับซ้อนด้วยตัวมันเอง มีความเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ภาครัฐ และกฎหมาย โดยมีวาระเร่งด่วนด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ความร่วมมือกรอบกฎหมายในระดับอาเซียน เพราะอินเทอร์เน็ตไม่มีพรมแดน การขยายตัวของปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์จึงถูกขยายตัวผ่านการเลียนแบบโดยไม่มีพรมแดนเช่นเดียวกัน เพื่อให้เท่าทันต่อการแก้ไขปัญหา ความร่วมมือในกรอบของกฎหมาย การกำกับดูแลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ปกครอง โรงเรียน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

2.การจัดตั้งคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนเด็กและเยาวชน การกำหนดให้มีกลุ่มหรือคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นตัวแทนสำหรับเด็กและเยาวชนในการส่งเสียงและบอกเล่าถึงความรุนแรงของปัญหา จะทำให้เราทราบถึงรูปแบบและความถี่ของการเกิดของปัญหาที่ถูกต้อง ช่องทางหรือแพลทฟอร์มใดที่เสี่ยงต่อการเกิดของปัญหามากที่สุด เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าว ภาครัฐควรมีบทบาทในการเป็นตัวกลางเพื่อก่อตั้งและประสานความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้มีองค์ความรู้และเข้าใจในปัญหามากที่สุด

3.การยกระดับการแก้ปัญหาผ่านหลักสูตรการศึกษา เพราะรูปแบบและช่องทางของปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เราอาจจะคิดว่าการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์มักเกิดบนพื้นที่โซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “เกมออนไลน์” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เด็กและเยาวชนใช้ในการกลั่นแกล้งผู้อื่น ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่ง ความรู้เท่าทัน และทักษะต่างๆ บนออนไลน์จึงมีความสำคัญในแง่ของการป้องกันปัญหา

157621217751

วิกกี้ ชอทบอท ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง พาเร้นท์โซน บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเด็ก บอกว่า “ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Digital resilience) จะเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ คุณภาพของการเลี้ยงดูและทัศนคติทางบวกต่อเทคโนโลยี ในประเทศอังกฤษ พาเร้นท์โซนได้ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ ตลอดจนคณะทำงานที่มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและกรอบความร่วมมือเพื่อร่วมกันโปรโมทภูมิคุ้มกันดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะยั่งยืนและเท่าทันกับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปนั้น การพูดคุยในระดับภูมิภาค ความร่วมมือในอนาคตอย่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Stop Cyberbullying Workshop จำเป็นต้องได้รับการสานต่อ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที