กสทช.ออกเกณฑ์คุม "ไอโอที" ไตรมาสแรกปี 63

กสทช.ออกเกณฑ์คุม "ไอโอที" ไตรมาสแรกปี 63

รับยุค5จี ย้ำต้องเกิด-เตรียมเลขหมายไอโอที 8 พันล้านเลขหมาย

กสทช.คาดออกประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลอุปกรณ์ไอโอที ไตรมาสแรกปี 2563 ก่อนประมูล 5จี รองรับการลงทุน ชี้เตรียมเลขหมายไอโอที 8,000 ล้านเลขหมาย พร้อมแก้ประกาศข้อมูลโทรคมนาคมให้โอเปอเรเตอร์นำข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตนต่อยอดสร้างบริการได้ ขณะที่ ย้ำชัด 5จี ช้าไม่ได้เหตุมีประโยชน์ทุกด้าน เน้นลงทุนพื้นที่จำเป็นก่อน เช่น อีอีซี

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2563 กสทช.จะออกประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลและปรับปรุงเลขหมายอุปกรณ์ไอโอที เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี ที่กำลังมีการประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 คาดว่า ผู้ชนะการประมูลจะใช้เวลาวางโครงข่ายราว 1-2 เดือน ทั้งนี้ 5จี ต้องมีอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ไอโอทีจำนวนมากเกิดขึ้น เนื่องจาก 5จี เป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์

เมื่อเน็ตเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญทำให้อุปกรณ์สื่อสารกับอุปกรณ์ การกำกับดูแลเกตเวย์ที่เป็นหัวใจหลักของการสื่อสาร จึงเป็นสิ่งที่กสทช.ต้องดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ กสทช.ต้องออกเลขหมายกำกับอุปกรณ์ไอโอที ที่อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าวด้วย เบื้องต้น กสทช.กำหนดเลขหมายสำหรับอุปกรณ์ไอโอทีไว้ 14 หลัก จำนวน 8,000 ล้านเลขหมาย

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทเอกชนต้องการเป็นผู้ให้บริการหรือวางระบบสื่อสารที่มีอุปกรณ์ไอโอทีให้บริการลูกค้าเชิงพาณิชย์ ต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กสทช.ก่อน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่มีใบอนุญาตสามารถให้บริการได้แล้วจำนวน 3 ราย คาดว่า น่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กสทช.ยังได้ปรับประกาศเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพการสื่อสารถึงกันเพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) นำข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน เช่น พฤติกรรมใช้งานในภาพรวม เป็นต้น มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการค้าได้ แต่ต้องห้ามละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุชัดถึงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นอันขาด รวมถึงการปรับให้สอดรับกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย โดยจะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์

ด้าน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ กสทช. ประจำปี 2562 หัวข้อ กสทช. กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ว่า 5จีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการแพทย์ทางไกล ทำให้รักษาผู้ป่วยได้อย่างทันทวงที

ทั้งนี้ กสทช.ได้มอบหมายให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มอบทุนเพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท ผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูงเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกล และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลาแบบเรียลไทม์

“มหาวิทยานเรศวรได้รับมอบทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีลักษณะคล้ายการแพทย์ทางไกล รูปแบบครบวงจร การพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล รวมทั้งเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยได้รวดเร็ว ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ ลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน” พล.ท.พีระพงษ์ กล่าว

ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ 5จี ซึ่งผู้ลงทุน คือ โอเปอเรเตอร์ ที่ปัจจุบันกำลังลังเลลงทุน 5จี แต่เรื่องนี้เป็นแผนขับเคลื่อนระดับชาติ อย่างน้อยควรผลักดัน 5จี ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จำเป็นก่อน เช่น พื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และตามหัวเมืองใหญ่ของทุกภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดพร้อมกันในทุกพื้นที่