ผู้ประกอบการขอนแก่นรับได้ค่าแรงใหม่วันละ 325 บาท

ผู้ประกอบการขอนแก่นรับได้ค่าแรงใหม่วันละ 325 บาท

ผู้ประกอบการขอนแก่นรับได้ค่าแรงใหม่ ไม่กระทบมากนัก ขอให้แรงงานอดทนอีกนิด แต่ถ้าสูงกว่านี้ตามที่เรียกร้องวันละ 400 คงต้องเลิกจ้าง เชื่อมีรายเล็กปิดตัวจนกระทบแรงงานส่วนใหญ่

วันที่ 13 ธ.ค. 62 จากที่มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่และจะมีผลใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า โดยจังหวัดขอนแก่นได้ปรับเป็นวันละ 325 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท ผู้ประกอบการเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์รับได้ ถ้าปรับสูงตามที่มีการเรียกร้อง ทวงสัญญาวันละ 400 บาท จะต้องมีการเลิกจ้างและถึงขั้นปิดกิจการกระทบเป็นวงกว้าง

นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวของผมมองว่าการปรับค่าแรงถือว่าสมเหตุสมผล ถึงแม้ทางสหภาพหรือสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย เห็นว่ามีการปรับน้อยเกินไป ผมอยากจะเรียนว่าการปรับค่าจ้างจะมากจะน้อยมีผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายทั้งสิ้น ถ้าปรับค่าแรงในระดับที่น้อยเกินไป ผู้ใช้แรงงานก็จะเห็นว่าตนได้รับผลกระทบ ได้รับเงินค่าจ้างน้อย ขณะเดียวกันถ้าปรับมากเกินไป ผู้ประกอบการก็จะรับภาระหนักเกินไป

"สถานการณ์ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย เราได้รับผลกระทบ 2 แรงบวก แรงบวกแรกคือจากภาวะเศรษฐกิจของทั่วโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเองนั้นต้องยอมรับว่าเราพึ่งพาการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม แม้กระทั่งสินค้าการเกษตร ได้รับผลกระทบทั้งหมด ส่งออกน้อยลงผลผลิตการเกษตรราคาก็ตกต่ำ แรงบวกที่ 2 จะเห็นได้ชัดว่าค่าเงินบาทแข็งมาก เราแข็งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 2 ของเอเชีย การที่ค่าเงินบาทแข็ง ส่วนตัวผมมองว่าลบมากกว่าผลบวก เพราะทำให้สินค้าของไทยเราแพงขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาลดน้อยลง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมที่เคยมา จากสภาวะแบบนี้ในกรณีที่กระทรวงแรงงาน ปรับค่าจ้าง ถ้าสูงกว่าที่ประกาศไปแล้ว ผู้ประกอบจะได้รับผลกระทบทั้งหมดทั้งรายเล็กรายใหญ่ รายใหญ่ยังกังวลน้อยกว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะผลประกอบการเอสเอ็มอีบ้านเราในขณะนี้ไม่ดีนัก พอแค่อยู่ได้เท่านั้น แต่ถ้าค่าแรงสูงมาก ๆ สิ่งที่พออยู่ได้ก็คงจะแทบไม่เหลือ สภาพเช่นนี้ก็คงต้องคิดว่าจะทำไปเพื่ออะไร จะเหนื่อยไปเพื่ออะไร สุดท้ายก็คงต้องเลิกประกอบการ พอเลิกผลกระทบก็จะไปตกที่แรงงาน ถูกเลิกจ้าง" นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์แล่าวต่อว่า ตอนนี้อาจจะเห็นว่าขึ้นน้อยเกินไป แต่ทั้งนี้แรงงานอดทนกันสักนิด ผู้ประกอบการพออยู่ได้ ต่างคนต่างกอดคอไปได้ มุมนี้สวยที่สุด ซึ่งการประกาศครั้งนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนอนาคตข้างหน้าหลังจากผ่านสัก 2 ไตรมาส ถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ค่าเงินเริ่มทรงตัวหรืออ่อนค่าลงบ้าง เชื่อว่าการปรับค่าแรงขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุและผล เรียกได้ว่าที่สำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการยิ่งรายเล็ก ต้องอยู่ได้ด้วย เพราะทุกวันนี้ถือว่าค่อนข้างสาหัสพอสมควร

"ถ้าปรับค่าแรงสูงเกินกว่าที่จะเป็น ผู้ใช้แรงงานจะต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการต้องมีการเลิกจ้างหรือมีการลดคนงานลง เพื่อลดต้นทุนเพราะค่าแรงเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าขึ้นค่าแรงในจุดที่สหภาพพอใจ อาจจะมีการใช้เครื่องจักรแทนคนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่า ในระยะ 2 -3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงานแล้วไม่น้อย การใช้แรงงานคนก็จะลดลงเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ในฐานะที่เราเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรม ยังไม่อยากให้ไปเร็วขนาดนั้น เรามีผู้ใช้แรงงานเยอะมาก ตรงนี้ยังมีความสำคัญ อยากให้พึ่งพากันต่างคนต่างอยู่ได้ แม้แต่ผมเองนั้นถ้าขึ้นค่าแรงมากกว่านี้ก็คงอาจจะต้องมีลดคนงานลงเพื่อให้คนส่วนใหญ่อยู่ได้ แต่เมื่อปรับระดับนี้ก็ยังรับได้" นายวิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย