เชฟรอนฯ จุดพลุงานเมกเกอร์แฟร์ ปี 5 ยลโฉมอนาคตที่สัมผัสได้

เชฟรอนฯ จุดพลุงานเมกเกอร์แฟร์ ปี 5 ยลโฉมอนาคตที่สัมผัสได้

เตรียมยลโฉมอนาคตที่สัมผัสได้ในงาน “Maker Faire Bangkok 2020” ตอกย้ำความสำเร็จของงาน เมกเกอร์แฟร์ เป็นปีที่ 5 ธีม “The Future We Make” พร้อมสร้างอนาคตที่ดีด้วยผลงานที่สร้างสรรค์โดยเมกเกอร์

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย เตรียมสานต่อความสำเร็จของงานเมกเกอร์แฟร์เป็นปีที่ 5 ด้วยการจัดงาน “Maker Faire Bangkok 2020: The Future We Make” มหกรรมแสดงผลงานของสุดยอดเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศ จะเผยให้เห็นถึงความสำเร็จของงาน เมกเกอร์แฟร์ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม อันจะนำมาซึ่งอนาคตที่ก้าวไกลของประเทศไทยและโลกใบนี้ พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์คช็อปอีกมากมายที่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเพื่อก้าวไปเป็นศูนย์กลางของเมกเกอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2563 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา สามารถเข้าชมฟรีได้ตลอดทั้งงาน

 นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวว่า เชฟรอนให้การสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เช่น การจัดงานเมกเกอร์แฟร์และการประกวด Enjoy Science Young Makers Contest

157616210348

(ภาพ นายนิมิตร หงษ์ยิ้มและผลงานมินิไบค์โก๋หลังวังแบบไฟฟ้า)

ไม่เพียงแต่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปได้รู้จักกับคำว่า “เมกเกอร์” จนเกิดความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้ในวิชาสาขาสะเต็มทั้งในและนอกห้องเรียน แต่ยังได้ปลูกฝังกรอบความคิดการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้พวกเขากล้าคิด กล้าทดลอง และกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับตัวเองและสังคม ไปพร้อมกับส่งต่อแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับเมกเกอร์รุ่นใหม่เพื่อไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ก่อให้เกิดอนาคตที่ดีของประเทศไทยและโลกใบนี้ จึงถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ อันสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการจัดหาทรัพยากรให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

157616225633

ภาพ หุ่นยนต์เล่นดนตรีจากกระดาษ รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย Origimon

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดงานเมกเกอร์แฟร์ ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้มีการเติบโตและแพร่หลายในเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเมกเกอร์ ซึ่งมีทั้งผู้ที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และผู้ที่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ทั้งนี้ การจัดงานเมกเกอร์แฟร์ทุกครั้งที่ผ่านมาก็มีผลงานที่ถูกนำมาแสดงโดยเหล่าเมกเกอร์ทุกระดับอายุทั้งจากในและนอกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จอีกหนึ่งประการของ งาน เมกเกอร์แฟร์ ก็คือ การออกนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลักดันวงการเมกเกอร์ไทยไปสู่การเป็น เมกเกอร์เนชั่น หรือประเทศแห่งนักพัฒนา และเตรียมความพร้อมในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็น Smart Nation อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.ชานนท์ ตุลาบดี เมกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้งบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงทิศทางการเติบโตของธุรกิจของเมกเกอร์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากมีงานเมกเกอร์แฟร์เกิดขึ้นในประเทยไทยอย่างต่อเนื่อง งานเมกเกอร์แฟร์ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นได้ไม่เพียงแต่ทำให้เยาวชนและประชาชนคนทั่วไปรู้จักคำว่า ‘เมกเกอร์’ และเข้าใจในบทบาทของเมกเกอร์มากขึ้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเหล่าเมกเกอร์ต่างสาขาและความชำนาญเข้าหากัน ทำให้เมกเกอร์ได้รู้จักและรวมตัวกันเป็นกลุ่มสังคมของเมกเกอร์กันมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ภายในสังคมของเมกเกอร์ก็จะมีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ที่ชำนาญ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาผลงานออกมาได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงแผนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เมกเกอร์สามารถสร้างรายได้จากผลงานเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจของตนเองได้อย่างมั่นคง จึงก่อให้เกิดธุรกิจของเมกเกอร์ใหม่ๆ ในวงการเมกเกอร์ไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทั้งในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้มีความเข้มข้นและขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน

157616233078

ภาพ ผลงาน AI Racing Car โดย เชียงใหม่ เมกเกอร์คลับ

งาน Maker Faire Bangkok 2020: The Future We Make จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2563 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา โดยจะมีการยกขบวนสุดยอดสิ่งประดิษฐ์จากไอเดียความคิดของเหล่าเมกเกอร์ทั้งไทยและต่างประเทศมาจัดแสดง ตลอดจนถึงขบวนอิเลคทริคพาเหรดไปที่เปรียบเสมือนไฮไลท์สำคัญประจำงาน ที่จะทำให้ทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับแสงสีอันสวยงาม ประกอบกับดนตรีที่สนุกสนานยามค่ำคืน รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกมากมายที่มีให้ผู้เข้าร่วมงานเลือกสัมผัสกับความหลากหลายและแก่นแท้ของวัฒนธรรมเมกเกอร์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะนำไปปฏิบัติจริงเพื่อต่อยอดการเป็นเมกเกอร์อย่างเต็มตัว สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศไทยในอนาคต

ทั้งยังมีการจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 4 ทั้งในระดับนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Social Innovations: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” โดยผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะมาเติมเต็มสังคมเมกเกอร์ในประเทศไทย ให้มีการเติบโตทางด้านวัฒนธรรมเมกเกอร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่ดีให้กับสังคมและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้า โดยจะมีการประกาศผลตัดสินการแข่งขันและมอบรางวัลเป็นทุนการศึกษาและโอกาสในการเข้าร่วมงานเมกเกอร์ระดับโลกในปี 2563 ให้แก่ทีมผู้ชนะเลิศอีกด้วย ดูรายละเอียดและเงื่อนไขของกิจกรรมเวิร์กช็อปเพิ่มเติมได้ที่ www.makerfairebangkok.com

เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”


โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ