ต้นเสียงสำเนียงเห่

ต้นเสียงสำเนียงเห่

ท่วงทำนองเสียงเห่เรืออันก้องกังวานไปทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยาของ นาวาโท ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ รองผู้อำนวยการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ ผู้รับหน้าที่พนักงานเห่เรือ ในการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายเรือ 2,200 นาย

พนักงานเห่ เรือเอก ที่สะท้อนเสียงเหนือลำน้ำเจ้าพระยาใน การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นอีกหน้าที่สำคัญในการรักษาความเป็นระเบียบ และพร้อมเพรียงของฝีพาย อีกทั้งช่วยผ่อนคลายบรรยากาศระหว่างขบวนเรือ ให้เข้มขลัง และเฉลิมฉลองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ให้แผ่ไพศาล กรุงเทพธุรกิจ พาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับเขาคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น 

ก่อนมาเป็นพนักงานเห่เรือ ทำหน้าที่อะไรมาก่อน

ผมเริ่มแรกมาเป็นฝีพายตั้งแต่ปี 2524 เป็นปีเดียวกับที่มีงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 250 ปี ที่กองเรือเล็ก กรมขนส่งทหารเรือเปิดรับสมัครกำลังพลแล้วผมผ่านการคัดเลือก ฝึกซ้อมจนได้เป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในอีก 1 ปีต่อมา การทำงานครั้งนั้น นับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตเพราะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับบนเรือลำนั้น

ผมเป็นฝีพายจนถึงปี 2530 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา มีงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในการนี้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่วัดอรุณราชวราราม ผมทำหน้าที่เป็นทั้งฝีพาย และครูฝึกฝีพายไปในคราวเดียวกัน 

จนปี 2539 เป็นปีที่มีการสร้างเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ผมเห็นว่าครูมงคลใกล้เกษียณ เลยคิดว่าจากนี้ไปคงมีน้อยคนที่จะทำหน้าที่เห่เรือ ก็เริ่มฝึกอย่างจริงจัง กระทั่งปี 2549 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเห่เรือ

การเห่เรือมีวิธีฝึกอย่างไร

ผมคิดว่า การเห่เรือก็เหมือนการร้องเพลง ต้องอาศัยการฟังเยอะๆ โดยมากผมฟังเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่ ลูกกรุงก็มี ผมชอบน้ำเสียงของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณธานินทร์ อินทรเทพ คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เพราะร้องเพลงชัดถ้อยชัดคำ เพลงสตริงชอบผลงานของคุณแอ๊ด คาราบาว คุณไท ธนาวุฒิ คุณเบิร์ด-ธงไชย แต่ละคนมีเทคนิคแตกต่างกัน ซึ่งการฟังเพลงเยอะๆ  ร้องเพลงเยอะๆ ก็เหมือนคนร้องคาราโอเกะ คอยสังเกตสำเนียงว่าร้องยังไงถึงจะเพราะ ไม่ต่างจากการเห่เรือที่เราจับเทคนิคเอื้อนเสียงบวกกับอาศัยสร้างจินตนาการจากบทเห่เรือ ภาพเหล่านั้นทำให้เรารู้ว่า น้ำเสียงที่เปล่งออกไปนั้นอย่างไหนถึงเหมาะสม

เวลาที่เราต้องใช้เสียงนานๆ ร่างกายต้องมีพลัง การฝึกฝนตัวเองสำคัญมาก ตื่นเช้ามาต้องวิ่งออกกำลังกาย วิ่ง ซิทอัพ ยกพายหนักๆ ฝึกลมหายใจออกเสียง หนึ่ง สอง อะ อา อิ อี แบบสั้น-ยาว เสียงเล็ก เสียงใหญ่ จะช่วยเห่เรือได้นานขึ้น

เรื่องการนอนหลับพักผ่อนก็สำคัญ ถ้านอน 8 ชั่วโมงเสียงจะใส ไม่อย่างนั้นเสียงไม่ลอย หมายถึงเวลาใช้เสียงต้องเค้นออกมา มันเหนื่อย แล้วบทเห่เรือบทหนึ่ง ฝึกเป็นพันๆ ครั้ง ตอนเป็นฝีพายก็ว่ายากแล้วแต่เห่เรือยากกว่า เช่น คำว่าแก้วกับแผ่ว ร้องยังไงให้เสียงพริ้ว สถานที่ฝึก เราก็ฝึกได้ทุกที่ อยู่ในที่ทำงาน อยู่ที่ไหน ร้องพึมๆ พำๆ ไปเรื่อย อย่างน้อย 3 ชั่วโมง เต็มที่ก็ 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ขับรถนี่ไม่กล้าเลย กลัวไปชนคนอื่นเดี๋ยวจะเป็นเรื่องใหญ่

ที่ทำอย่างนั้นเพราะเราต้องร้องจนจำขึ้นใจว่า โครงสร้างของกาพย์ยานี 11 มีคำสัมผัสยังไง ดังนั้นตอนที่ผมเป็นพนักงานเห่เรือ ประจำเรืออนันตนาคราชก็มั่นใจ ไม่มีตื่นเต้นเพราะทั้งลำมีแต่กำลังพลที่เป็นลูกศิษย์เรา

เท่ากับว่าในแต่ละวันต้องทำสองหน้าที่ไปพร้อมกัน

เราเป็นทั้งพนักงานเห่เรือ แล้วก็เป็นครูฝึกกำลังพลเริ่มจากหัดพายเรือบนเขียงในท่าพื้นฐาน แล้วฝึกร้องฝึกเห่แล้วค่อยฝึกพายในบ่อโดยผูกเชือกโยงยึดเรือไว้กับที่ จากนั้นเป็นการฝึกพายในแม่น้ำจัดเป็นรูปขบวนย่อย

พอคล่องตัวแล้ว ก็ฝึกรับเห่เรือ ซึ่งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ครูทองย้อย (นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย) เป็นผู้ประพันธ์บทเห่เรือ 3 บท คือบทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือ บทชมเมือง 3 ช่วงทำนอง เริ่มจากช้าละวะเห่ เป็นการบอกสัญญาณเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำไปพร้อมๆ

ต่อมาคือ มูลเห่ ครูจะนำเห่ แล้วกำลังพลเป็นลูกคู่จะคอยรับว่าชะ...ชะ...ฮ้าไฮ้ และต่อท้ายบทว่า เฮ้ เฮ เฮ เฮ เห่ เฮ แล้วค่อยประกอบท่าพายเรือ ถ้าทำถูกต้อง ก็เข้าสู่ทำนอง สวะเห่ เป็นการเห่เมื่อเรือใกล้จะถึงที่หมาย

ผมอยู่กับการพายเรือมา 40 ปี เคยเป็นทั้งนายเรือ นายท้าย ฝีพาย ทุกตำแหน่งในเรือ ลูกศิษย์คนไหนจะมาหลอกเราไม่ได้ ที่ผ่านมาก็มีหลายระดับ บางคนทำได้เลย บางคนฝึกเป็นเดือนก็ช่วยกันปรับแก้แนะวิธี แต่ไม่ประจาน ไม่งั้นคนไม่อยากฝึกกับเรา จำเป็นต้องมีวิธีการพูดคุยกับคนต่างที่มา ให้เขาเข้าใจหน้าที่ว่าทำอะไร เกิดความร่วมแรงร่วมใจกัน ก็มีเอาใจบ้าง ดุบ้างปนกันไป บางทีแค่พูดว่า ... ขอแถมสวยๆ แบบ 15 นาที กำลังพลก็ตั้งใจมากกว่าเก่าแม้ว่าท่าพายจะไม่สวยเท่าทีแรกก็ตาม 

อุปสรรคในเรื่องอื่นๆ มีอะไรบ้าง 

กระแสลม กระแสน้ำมีอิทธิพลต่อขบวนเรือพระราชพิธี ดังนั้นในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี มีมาตรวัดน้ำว่าวันนี้ น้ำขึ้นน้ำลงเท่าไหร่ เพื่อให้กำลังพลรู้ว่าควรจะออกแรงบังคับเรือมากน้อยยังไง ซึ่งการพายเรือทวนน้ำหรือตามน้ำ ต่างกันโดยสิ้นเชิง

คนส่วนใหญ่คิดว่า พายเรือตามน้ำน่าจะง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกระแสน้ำจะพัดพาเรือเราไปเรื่อย หลายหน่วยงานร่วมมือกันนำหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเครื่องมือคำนวนสภาพอากาศ กล้องวัดระยะคอยตรวจแนวเส้นทางเรือ เครื่องขยายเสียงถ่ายทอดแล้วส่งสัญญาณไปตามจุดต่างๆ เพื่อให้กำลังพลสองพันกว่านาย ได้ยินเสียงพร้อมกันหมด

เทียบกับสมัยเมื่อก่อนการพายเรือไม่พร้อมเพรียง จะพายเรือพร้อมกันเฉพาะในแต่ละลำ ไม่ใช่ทั้งขบวนเรือ ขยะมูลฝอยที่ลอยตามแม่น้ำส่งผลให้การพายเรือลำบากมาก ประสบการณ์จากงานพระราชพิธีครั้งก่อนๆ จึงนำมาปรับปรุงเพื่อให้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ

เรื่องคติความเชื่อของชาวเรือ ยังเป็นสิ่งที่ยังยึดถือกันอยู่  

ชาวเรือทุกคน เราให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนนำเรือไปใช้ในกระราชพิธีและก่อนออกเรือก็ต้องทำบวงสรวงเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือเสียก่อนเรื่องการปฏิบัติตัวของกำลังพลก็สำคัญ ต้องสำรวมกิริยาให้สุภาพ พูดจาเรียบร้อย เป็นกุศโลบายของคนโบราณที่อยากให้คนรุ่นหลังทำสิ่งที่ถูกที่ควร

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจงานพระราชพิธีแล้วหน้าที่ของเราคืออะไร 

เนื่องจากกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เป็นหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่นอกเหนือจากงานพระราชพิธีแล้ว อีกบทบาทหน้าที่หนึ่ง คือ ดูแลสถานที่ ดูแลรักษาเรือ ฝึกทหารสี่ผลัด ผลัดละสองเดือนเพื่อเป็นฝีพายสำรองไว้สำหรับงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ส่วนการฝึกซ้อมเห่เรือก็ทำตามปกติ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นวิทยากรสาธิตตามหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ แม้จะใช้เวลาแค่ 9-10 นาที เราต้องซ้อมนานเดือนหนึ่ง ถ้างานไหนจัดชั่วโมงก็เพิ่มการฝึกเป็นปี เครื่องเสียงดีๆ ไมค์ดีๆ ยิ่งชอบ

ยังมีงานเผยแพร่ความรู้ต่างๆ แก่คนรุ่นใหม่ที่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกนับพันๆ คน เข้ามาศึกษาหาความรู้

เขาสนใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรือ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา งานวิศวกรรมซ่อมสร้างเรือ การพายเรือ เครื่องประกอบเรือพระที่นั่ง บางคนสนใจงานด้านอักษรศาสตร์บทเห่เรือดั้งเดิม เรามีหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล คำปรึกษา สร้างแรงกระตุ้นให้ศึกษาเพิ่มเติมจนบางคนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ว่าหน้าที่ของผมจะเป็นอะไร ก็ล้วนแต่นำความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสมบัติของชาติสืบไป