จับเทรนด์ 'จีนเที่ยวไทย' คาด '10 ปี' ทะลัก 23 ล้านคน

จับเทรนด์ 'จีนเที่ยวไทย' คาด '10 ปี' ทะลัก 23 ล้านคน

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกกลับ "ติดลบ" ต่อเนื่อง "ภาคการท่องเที่ยว" จึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวยืนเหนือ 40 ล้านคน

โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักๆ ยังคงเป็น "นักท่องเที่ยวจีน" ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยหรือ  "KRungthai COMPASS"  จึงทำบทวิจัยเชิงลึกเรื่อง "เกาะติดทิศทางนักท่องเที่ยวจีน" เพื่อเกาะติดเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีน รวมถึงการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

"พชรพจน์ นันทรามาศ" ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญมากต่อการท่องเที่ยวไทยและทั่วโลก  จากบทวิจัยคาดว่า การท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.9% จาก 160 ล้านคนในปีนี้  เป็น 334 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2030 จากกำลังซื้อของจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลจีนลงทุนขยายสนามบิน และเปิดสนามบินต่อเนื่องอีกกว่า200แห่ง และการผ่อนคลายวีซ่าของประเทศต่างๆ ยังเป็นแรงหนุนให้ชาวจีนออกมาเที่ยวนอกประเทศเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง ประเทศจีน ยังมีสัดส่วนคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และมีกำลังท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนเกือบเป็น "ครึ่งหนึ่ง" ของครัวเรือนจีนทั้งหมดแล้ว เชื่อว่ากลุ่มคนชั้นกลางของจีนเหล่านี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกในอนาคต

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จะสร้างนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่ราว 33 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 35 ปี ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ และสามารถท่องเที่ยวต่างประเทศได้เอง และเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยว  "Unseen" มากขึ้น ดังนั้นโซเชียลมีเดียจะมีอิทธิผลมากต่อการตัดสินใจเที่ยวนอกและชอปปิงของคนจีนสูงมาก

ขณะกลุ่มของจีนที่มีอายุ 10-19 ปี  เป็นอีกกลุ่มที่เริ่มออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 20%ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นกลุ่มนี้ถือเป็นความหวังและเป็นแรงหนุนสำคัญสำหรับท่องเที่ยวไทยในอนาคต 

"ณัฐพล ศรีทอง" ผู้ร่วมทำวิจัย ยังชี้ให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยยังถือเป็น  ปลายทางการท่องเที่ยว "อันดับหนึ่ง" ของนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาคือญี่ปุ่น เวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาประเทศไทย พบว่าจีนถือเป็นอันดับหนึ่งราว 27% รองลงมาคือมาเลเซีย 11% และอินเดียเกาหลีใต้สัดส่วนประเทศละ 5% ตามลำดับ

นอกจากนี้ หากดูสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวทั่วโลก พบว่าประเทศไทยยังสามารถรักษาสัดส่วนได้ราว 7% ของชาวจีนที่เดินทางไปท่องเทียวในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าหากอนาคต ประเทศไทย สามารถรักษาสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนต่อเนื่องที่ 7% จะทำให้อีก 10ปีข้างหน้ามีโอกาสเห็นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในไทยถึง 23 ล้านคน จากปัจจุบันที่อยู่ราว 11.1 ล้านคน หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย

แต่หากสถานการณ์การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันของประเทศเวียดนาม เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวทั่วโลก อาจทำให้จำนวนท่องเที่ยวจีนอาจเติบโตได้เพียง 5.5% หรือมียอดนักท่องเที่ยวเพียง 20 ล้านคนเท่านั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้น โจทย์สำคัญของไทย คือต้องรักษาจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวให้ได้ โดยเฉพาะการรักษาจุดแข็งด้านความงดงามทางธรรมชาติ ความโดดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว และการเตรียมพร้อมด้าน "การรักษาความปลอดภัย" ให้กับนักท่องเที่ยว ที่เชื่อว่า "เป็นหัวใจหลัก" ที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการตัดสินใจท่องเที่ยวในอนาคต

ทั้งนี้ โจทย์ และจุดขายสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยว จากผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวให้น้ำหนักกับความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวถึง 56% ขณะที่ด้านความปลอดภัยถึง 47%  ถัดมาคือการขอวีซ่าได้ง่าย 45%  ดังนั้นเราเชื่อว่าเหล่านี้ถือเป็นหัวใจหลักในการดึงดูดการท่องเที่ยวมากที่สุด  

"ถามว่า ปัจจัยค่าเงินที่แข็งค่า มีผลต่อการท่องเที่ยวหรือไม่  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เราพบว่าไม่มีผลมาก เพราะพบว่าหากดูการใช้จ่ายผ่านเงินดอลลาร์ หรือเงินหยวนเวลามาเที่ยวไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้ลดลง แปลว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจไม่ได้มีผลมากนักที่ทำให้จีนมาเที่ยวไทยน้อยลง"

157620931249