เปิดแนวคิดเทรนด์อุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทยในปี 2020

เปิดแนวคิดเทรนด์อุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทยในปี 2020

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เปิดแนวคิดเทรนด์อุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทยในปี 2020

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท มิลลิเก้น เคมีคัล จำกัด จัดงานสัมมนาหัวข้อ “นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดในการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างอนาคตของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นายภราดร จุลชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทางกลุ่มฯมีความมุ่งหวังว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติก จะร่วมแรงร่วมใจกันนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในองค์กร โดยยึดหลัก “reduce-reuse-recycle”เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ภายในงานสัมมนานี้มีตัวแทนของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก ทั้งจากภาครัฐ และตัวแทนจากบริษัทเอกชนชั้นนำ ร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงแนวนโยบายและตัวอย่างการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยคาดว่าแนวคิดที่จะกล่าวถึงในงานนี้ จะเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทยต่อไป

ดร.อดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายในประเด็น “Circular Economy and implication for Thai Industry” ว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีตัวอย่างในการนำแนวคิดนี้ไปปฎิบัติจริงและประสบผลสำเร็จแล้วในทั่วโลก ทั้งนี้ปัจจัยผลักดันสำคัญ ได้แก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเอเขียซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปดีขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึนอย่างมหาศาล และมีจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นโดยที่ยังไม่มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่เห็นปรากฎเป็นข่าว แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุดและหมุนเวียนในระบบนานที่สุด จึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดปริมาณของเสียที่ปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ภาครัฐเองมีแนวนโยบายในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาผสมผสานกับแนวคิดเศรษฐกิจฐานชีวภาพที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย โดยคาดหวังว่านโยบายนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมหลักที่จะมุ่งเน้นก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน สุขภาพการแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยมีการประมาณการว่าแนวคิดทั้งสองจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจถึง 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายชัยวัฒน์ สิริเบญจมาภรณ์ Division Manager - RD Customer Solution Department บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวสัมมนา ในหัวข้อ “Shape the Sustainable World. Circular Economy in Practice” โดยมีใจความโดยสรุปว่า รูปแบบธุรกิจสี่ประการหลักของไออาร์พีซีภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบไปด้วย การส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Resource Recovery) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Product Life Extension) การพัฒนาความร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้สินค้าผ่าน Sharing Platform และ การให้บริการในกลุ่มผู้ที่มีการใช้สินค้าร่วมกัน (Product as a service) โดยงานบรรยายในครั้งนี้ ไออาร์พีซีได้นำเสนอตัวอย่างของการนำของเสียที่เกิดจากการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้นายชัยวัฒน์ยังได้เปิดเผยถึงแผนแม่บทของบริษัทฯภายใต้ชื่อ Eco-Solution Roadmap ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายตั้งแต่การลดปริมาณของเสียจากอุตสาหกรรม การพัฒนาฐานข้อมูลของขยะพลาสติก การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกให้มีคุณภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป และการริเริ่มใช้เครื่องหมายเพื่อรับรองการใช้พลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์

​มร. วินเซนต์ หวาง ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเอเชียใต้ บริษัท มิลลิเก้น เคมิคัล จำกัด กล่าวสัมมนา ในหัวข้อ “Enhancing Plastics Sustainability” ว่า เราสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เอื้ออำนวยต่อการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเลือกใช้พลาสติกที่แข็งแรงทนทานสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น โพลีโพรพีลีน ที่น้ำหนักเบา มีความแข็งแรงทนทาน คาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำและสามารถรีไซเคิลได้หลายครั้ง โดยมร.วินเซนต์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า บริษัทฯได้มุ่งคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพลาสติก สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริง อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ DeltaMax ซึ่งช่วยพัฒนาคุณสมบัติของพลาสติกรีไซเคิลให้มีความแข็งแรงทนทาน และผลิตภัณฑ์ Millad NX8000 เทคโนโลยีล่าสุดซึ่งผ่านการทดสอบและรับรองมาตรฐานโดย Underwriter Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตได้จริง โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากเขียว Environmental Claim Validation (ECV) ซึ่งผู้ผลิตที่ผ่านการทดสอบติดแสดงบนผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ มร. วินเซนต์ ยังได้กล่าวถึงพันธมิตรที่สำคัญ คือ บริษัท PureCycle ซึ่งมีเทคโนโลยีพิเศษในการรีไซเคิลพลาสติกโพลีโพรพีลีนที่ใช้แล้ว ให้กลับมาพร้อมใช้เหมือนพลาสติกใหม่ และสามารถใช้บรรจุอาหารได้อย่างปลอดภัย

มร. วิเวกคนัน ซิสต์ลา R&D Director & Site Leader ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวสัมมนา ในหัวข้อ “Sourcing and implementing circular plastic solutions in FMCG”ยูนิลีเวอร์มีแนวนโยบายในการใช้พลาสติกซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะจากพลาสติก โดยบริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะลดการใช้พลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้ในปัจจุบันภายในปี 2568 และตั้งเป้าให้มีการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืนและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ให้มากกว่าการจำหน่ายของบริษัทฯ โดยบริษัทฯมีแนวคิดในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ โดยตั้งเป้าว่าจะใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกใช้แล้ว (PCR, Post Consumer Recycled) ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทฯให้มากที่สุดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศ และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ยูนิลีเวอร์ยึดถือหลักปฎิบัติ สามประการ อันได้แก่ การลดการใช้พลาสติก(Reduce) การหมุนเวียนกลับมารีไซเคิล(Recycle) และการเลิกใช้พลาสติก (Rethink)

งานสัมมนานี้นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่เข้ามาร่วมอภิปรายและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป