'แอมเนสตี้' เตือน 'ซูจี' อย่าเบี่ยงประเด็นล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

'แอมเนสตี้' เตือน 'ซูจี' อย่าเบี่ยงประเด็นล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

"แอมเนสตี้" เตือน "ออง ซาน ซูจี" ผู้นำเมียนมา อย่าเบี่ยงเบนความสนใจของคนทั่วโลกจากวิกฤติที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับชาวโรฮิงญา ชี้การตอบโต้ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอย่างจงใจ หลอกลวง และเป็นอันตราย

นายนิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) เผยวันนี้ (12 ธ.ค.) ว่า นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พยายามลดภาพความรุนแรงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรชาวโรฮิงญา อันที่จริงเธอไม่ได้เรียกชื่อพวกเขาด้วยซ้ำ หรือไม่ยอมรับระดับความรุนแรงของการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้น การตอบโต้ข้อกล่าวหาเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจ หลอกลวง และเป็นอันตราย

นายเบเคลัง เสริมว่า การอพยพของคนเกือบล้านจากบ้านเรือนและประเทศของตนเอง ไม่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น นอกจากปฏิบัติการที่มีการประสานงานอย่างเป็นระบบเพื่อสังหาร ข่มขืน และสร้างความหวาดกลัว การระบุว่ากองทัพ "ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจนเพียงพอระหว่างบุคคลที่เป็นนักรบกับพลเรือน" เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ

ในทำนองเดียวกัน การชี้ว่าทางการเมียนมามีศักยภาพเพียงพอที่จะสอบสวนและดำเนินคดีในตอนนี้อย่างเป็นอิสระ กับผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องในจินตนาการเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีกับผู้บัญชาการทหารระดับสูงผู้ก่ออาชญากรรม ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาต่างลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิง

"แม้ในวันนี้โลกให้ความสนใจกับซูจี แต่โปรดระลึกว่า การดำเนินคดีครั้งนี้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงกับความยุติธรรมสำหรับชุมชนชาวโรฮิงญา ซึ่งยังมีเหลืออยู่อีก 6 แสนคนที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ พวกเขาเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเพิ่มเติม และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยอีกหลายแสนคนซึ่งไม่สามารถเดินทางกลับเมียนมาได้ แม้ซูจีจะพูดอย่างไรในวันนี้ แต่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอให้พวกเขาเดินทางกลับได้"

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ระบุด้วยว่า ศาลและประชาคมระหว่างประเทศควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองชาวโรฮิงญา และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ทารุณโหดร้ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการสั่งการให้เมียนมายกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ดูแลให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนใดๆ ก็ตามขององค์กรระหว่างประเทศ

นางซูจี ซึ่งเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา ได้นำคณะผู้แทนจากเมียนมาไปที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ วานนี้ (11 ธ.ค.) เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดพันธกรณีของตนตามอนุสัญญาว่าด้วยการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 เป็นคดีที่ฟ้องโดยประเทศแกมเบีย เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562

ในครั้งนี้ เมียนมาได้ให้การต่อศาลเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของแกมเบียเป็นครั้งแรก โดยแกมเบียได้ขอให้ศาลสั่งให้เมียนมาใช้ "มาตรการชั่วคราว" เพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาวโรฮิงญา และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำใด ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหรือสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำต่อชุมชนเหล่านี้ ระหว่างรอการไต่สวนอย่างเป็นทางการในคดีนี้

ผลการวิจัยของแอมเนสตี้ พบว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูง 13 คนรวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ควรถูกสอบสวนและดำเนินคดีจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา

ทั้งเมียนมาและแกมเบียมีกำหนดให้การต่อศาลโลกอีกครั้งในวันนี้ หลังจากนางซูจีให้การในวันแรกว่า ศาลโลกไม่ควรมีอำนาจตุลาการในเรื่องนี้ เพราะถึงแม้มีการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนในเหตุขัดแย้งภายในประเทศก็ไม่ถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491

คาดกันว่า แกมเบียที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะจะให้การโต้แย้งในวันนี้ว่า การกระทำของเมียนมาเป็นไปตามคำนิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะการทำร้ายชาวโรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการล้างเผ่าพันธุ์ที่มีการประสานงานกัน ส่วนนางซูจีและคณะจะโต้แย้งและแถลงสรุปภายในวันนี้ตามเวลาเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ศาลโลกยังไม่ได้กำหนดวันตัดสินเรื่องมาตรการชั่วคราว และอาจมีขึ้นภายในเดือนหน้า คำตัดสินของศาลโลกมีผลผูกพันและถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ไม่ได้กำหนดวิธีการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามคำตัดสิน ที่ผ่านมาจึงมีบางประเทศละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ และหลังจากที่มีมาตรการชั่วคราวแล้ว กระบวนการทั้งหมดอาจดำเนินต่อไปอีกหลายปี