วิกฤติสุขภาวะประชากรข้ามชาติ” ความมั่นคงที่ยังอยู่บนความเสี่ยง

วิกฤติสุขภาวะประชากรข้ามชาติ”  ความมั่นคงที่ยังอยู่บนความเสี่ยง

เมื่อประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน ซึ่งมีผลต่อจีดีพี(GDP)ของไทย 6.2 % จึงต้องดูแลแรงงานข้ามชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรงแต่ปัจจุบันงานวิจัยต่างชี้ตรงกันว่า ประชากรข้ามชาติในไทยยังเผชิญกับวิกฤติ

        ประเทศไทยมีประชากรข้ามชาติเข้ามาอาศัยอยู่ประมาณ4-5ล้านคน โดยข้อมุลจากกรมการจัดหางานช่วงเดือนต.ค.2562 ระบุว่า แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยจำนวน 3.22 ล้านคน แยกเป็นแรงงานประเภททั่วไปราว 3 ล้านคน แรงงานประเภทฝีมือ 1.66 แสนคน ชนกลุ่มน้อย 4.9 หมื่นคน และประเภทตลอดชีพ 241 คน ซึ่งในแง่ของการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคนั้น หากเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและผู้ติดตามแรงงานทั้ง 3 สัญชาติอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มรใบอนุญาตทำงานและให้อยู่ในราชอาณาจักร จะต้องมีประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ซี่งมี 2 ระบบ ได้แก่ ประกันสังคม หากกิจการอยู่ในระบบประกันสงัคม และประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวหากกิจการไม่ได้อยู่ในประกันสังคม

          ในส่วนของบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2562 หากพิจารณาเฉพาะส่วนค่าประกันสุขภาพกำหนดอัตราต่อคน คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มผู้ติดตามแรงงาน บัตรอายุเกิน 7 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี อายุคุ้มครอง 2 ปี 3,200 บาท 1 ปี 1,600 บาท 6 เดือน 900 บาท และ3 เดือน 500 บาท ส่วนบุตรอายุไม่เกิน 7 ปี อายุคุ้มครอง 2 ปี 730 บาท และ 1 ปี 365 บาท

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มองว่า อนาคตตัวเลขการซื้อบัตรประกันสุขภาพกับสธ.จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาจะต้องมีนายจ้างและเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิมสัดส่วนระหว่างประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพอยู่ที่20ต่อ80 %ปัจจุบันอยู่ที่ราว60ต่อ40 %อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่าแรงงานข้ามชาติไม่อยากไปอยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากต้องจ่ายค่อนข้างแพงปีละราว5,000บาท เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาถึงแนวทางระบบประกันสุขภาพประชากรข้ามชาติที่มีความเป็นไปได้ ในรูปแบบที่ไม่เป็นภาระกับแรงงานและประเทศไม่มีปัญหาในการดูแล

            ทั้งนี้ จากผลการศึกษา “สถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทย” ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นศึกษาในแรงงานต่างด้าว3สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชา รวมถึงผู้ติดตาม พบว่า ข้อมูลรายงานตรวจคัดกรองสุขภาพจากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในปี 2557 และ 2559 ภาวะสุขภาพหรือโรคที่พบเป็นอันดับต้นๆในคนต่างด้าว ได้แก่ การตั้งครรภ์และวัณโรค นอกจากนี้ ข้อมูลจากระบบรายงานระวังโรค ปี 2560 พบว่า โรคติดต่อในคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีรายงานเข้ามามาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วง ไข้หรือไข้ไม่ทราบสาเหตุ และโรคปอดบวม/ปอดอักเสบ

         การวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ภายใต้สิทธิบัตรประกันสุขภาพของสธ. ในปี 2559 พบว่า ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่มีการเบิกจ่ายสูงสุดของผู้ป่วยนอก คือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส มูลค่า 13.5 ล้านบาท โดยค่าเฉลี่ยต่อครั้งในการมารักษาเท่ากับ 887 บาทต่อการเบิกจ่ายจำนวน 15,242 ครั้ง ภาวะสุขภาพอื่นที่มีการเบิกจ่ายมาก ประกอบด้วย การติดเชื้อที่เกิดจากเอชไอวี และมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ส่วนการเบิกจ่ายค่ารักษาของการให้บริการผู้ป่วยใน ที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับอายุครรภ์น้อยและน้ำหนักแรกเกิดน้อย มูลค่าการเบิกค่ารักษาทั้งหมด 48 ล้านบาท ปัญหาสุขภาพอื่นๆได้แก่ การบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆและโรคที่เกิดในทารกแรกเกิด

       ขณะที่ผลการศึกษาของ เปรมใจ วังศิริไพศาล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “สถานการณ์และความเปราะบางด้านสุขภาวะเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” พบว่า เด็กข้ามชาติในประเทศไทยที่มีการประเมินว่ามีไม่น้อยกว่า 2.5 แสนคน มีทั้งที่ได้รับการป้องกันโรคที่จำเป็น ได้รับไม่ครบตามจำนวน มีทั้งมีประประกันสุขภาพที่มีเพียง 4.7 หมื่นคน และไม่มีประกันสุขภาพ มีเด็กที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน สภาพแวดล้อมที่เร่ร่อน เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ

           ข้อค้นพบสรุปภาพรวม ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ พบว่า มีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หรือได้ไม่ครบตามเกณฑ์ การสำรวจพบว่าเด็กข้ามชาติมีน้ำหนักและขนาดรูปร่างที่น้อยกว่าเด็กไทยในระดับอายุเดียวกัน และยังมีส่วนหนึ่งที่มีภาวะทุพโภชนาการ ส่วนระบบประกันสุขภาพที่จำกัดเฉพาะเด็กข้ามชาติ หรือแรงงานที่จดทะเบียนและค่าประกันที่แรงงานเห็นว่าสูงเกินไป ทำให้เด็กจำนวนมากตกหล่นจากระบบประกันสุขภาพ การป้องกันโรคที่ อีกทั้ง มีเด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงานทางที่ไม่เหมาะกับวัย หรือประเภทงานที่ไม่เหมาะกับเด็กทำให้เด็กมีความเสี่ยงจากสภาพการทำงานนอกจากนั้น ยังมีเด็กเร่ร่อน ขอทานหรือทำงานข้างถนนที่เผชิญกับความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิ์และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

          แนวทางการแก้ปัญหสุขภาวะประชากรข้ามชาตินั้น ระยะสั้น สธ.อยู่ระหว่างการเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรวม80-90ล้านบาท เพื่อดำเนินการเรื่องการให้วัคซีนกับคนต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณดำเนินการส่วนนี้อยู่ที่28ล้านบาทต่อปี การป้องกันวัณโรค และการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสอยู่เดิม

           สำหรับระยะยาว นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) บอกว่า จากการค้นพบจากงานวิจัยและการปฏิบัติการของคนทำงานกับกลุ่มประชากรข้ามชาติ มีประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายและการวิจัย ได้แก่ 1.การอภิบาลระบบ ควรจัดให้มีกลไกการอภิบาลระบบและนโยบายประชากรข้ามชาติ เน้นเงื่อนไขการตรวจสุขภาพของแรงงาน โดยเฉพาะโรคติดต่อที่จำเป็นจากประเทศต้นทางก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย, พัฒนาระบบการส่งต่อ การติดตามประเมินผลการรักษาของผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศ

         2.ระบบบริการ/กำลังคน ควรปรับระบบบริการการดูแลสุขภาพอย่างมีมนุษยธรรม “Humanized Health Care” ให้สอดรับกับความหลากหลายของประชากรข้ามชาติ การคัดเลือกคนบนพื้นที่สูงมาเรียนและให้กลับไปทำงานในพื้นที่ และ3.ระบบการเงินการคลัง/ประกันสุขภาพ ควรมีหลักประกันสุขภาพสำหรับบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะโรคติดต่อ เช่น วัคซีนพื้นฐาน (EPI) วัณโรค เป็นต้น พัฒนาระบบการจัดประกันสุขภาพประชากรข้ามขาติที่บูรณาการและมีประสิทธิภาพ