'นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย' ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ

'นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย' ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้ว 6 ครั้ง และสำหรับครั้งนี้ ครูทองย้อยเป็นผู้ประแต่งกาพย์เห่เรือ บทสรรเสริญพระบารมี พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 10 บทชมเรือขบวน

นอกจากความงดงามของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่แสดงพระเกียรติยศสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏแก่ทุกสายตาในขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ตลอดเส้นทาง 3.4 กิโลเมตร จากท่าวาสุกรีไปยังท่าราชวรดิษฐ์ สิ่งที่ทำให้ลายสลักงานศิลป์บันตัวเรืองดงาม และท่วงท่าของฝีพายยิ่งเข้มขลังขึ้นไปอีกก็คือ บทเห่เรือที่กังวานไปทั่วคุ้งเจ้าพระยา

โดย "กาพย์เห่เรือ" ที่ใช้ในครั้งนี้นั้น บทประพันธ์ของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยและศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี ผู้เคยประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้ว 6 ครั้ง

157613288213

เขาอธิบายถึงบริบทของสังคมไทย ไม่ว่าจะภูมิประเทศ ตั้งถิ่นฐาน การแบ่งพื้นที่ลุ่มที่ดอน โดยเฉพาะการสัญจร มักใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก

"มีบันทึกในนิราศ อย่างสุนทรภู่ทุกเรื่องไปทางเรือ ไปกำลังแรงคนพายไปเหนื่อย เป็นปฐมเหตุกระบวนพยุหยาตราพระเจ้าอยู่หัว มีการวางแผนเป็นแบบแผน การจัดลำดับเรือ การเดินทางเรือไม่ใช้ระยทางใกล้ๆ ไปเป็นชั่วโมง มันเหนื่อย เพราะฉะนั้นต้องหาวิธี เรามาพายพร้อมๆ กันเกิดจังหวะ ลดทอนความเครียด จากความเหนื่อยล้า"

กาพย์เห่เรือ จึงปรากฏขึ้นเพื่อนำไปใช้ร้องในการพายเรือ โดยพนักงานเห่เรือ เป็นคนเห่นำ เนื้อหาเท่าที่ปรากฏที่รู้กันเป็นของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง

"บทขึ้นต้นที่คนจำได้คือ สุพรรณหงส์ ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ .... เป็นบทชมเรือที่ทุกคนมองเห็นเรือลำนั้นลำนี้ คนที่อยู่บนฝั่งก็เห็น พนักงานฝีพายแต่งตัวใส่เสื้อสวย เป็นเนื้อเรื่องมาพูดชมเรือ บทชมปลา บทชมนก สิ่งที่พบเห็นระหว่างทางในยุคแรกขอบบทเห่เรือเป็นอย่างนั้น

"การประพันธ์บทเห่เรือถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงเป็นกวีและศิลปิน ทรงชมเครื่องคาวหวานเพราะว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นแม่ครัวชั้น 1 ทรงทำกับข้าวเก่งอร่อย จนเป็นที่มาของการแต่งกาพย์เห่เรือชมที่พูดถึงอาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ก็มีบทเห่เรือเช่นกัน ส่วนพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงประพันธ์บทเห่เรือฉลองกรุง 150 ปี มีโคลงสี่สุภาพ 1 บท กาพย์ยานี 11 อีก 60 กว่าบท บรรยายการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์"

และเมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อพุทธศาสนาล่วงมาได้ 2500 ปี เมื่อปี พ.ศ.2500 รัฐบาลจัดขบวนพยุหยาตรา มีแต่งกาพย์เห่เรือแห่งพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปรารภให้รื้อฟื้นขึ้นมา เมื่อครั้งทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ.2539 มีการเตรียมการงานอย่างยิ่งใหญ่ โครงการจัดทั้งหมด 7 โครงการ อนุรักษ์ ป่าชายฝั่ง และจัดโครงการจัดขบวนเรือพยุหยาตราและการจัดสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่

"ทรงมีรับสั่งว่า เรือที่มีอยู่เดิมก็ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ซ่อมแซมหลายครั้ง สมควรสร้างพระที่นั่งลำใหม่ โดยกองทัพเรือเป็นแม่งานตั้งกองเป็นกรรมการสามส่วน มีช่างฝีมือและวัสดุอุปกรณ์โดยกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ ลวดลายศิลปกรรมของเรือ กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเงินทุนนี้ทางธนาคารไทยพาณิย์รับผิดชอบ แล้วทางธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าของทุน เกิดไอเดียว่า ไหนๆ มีเรือลำใหม่ ภายหลังพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จึงจัดการประกวดกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำใหม่"

157613296319

  • ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งบทเห่เรือของเจ้าตัวเองด้วย

"ตอนนั้นผมรับราชการในกองทัพเรือ เป็นยศนาวาโท เข้าโรงเรียนนายทหารอาวุโสหน่วยสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผมทำงานที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และกำลังไปค้นเอกสารประกอบการเรียนพอดี ผอ.การกองฯ เพิ่งไปพบเจ้ากรมมา ก็สั่งให้ผมแต่งกาพย์เห่เรือ จากประสบการณ์บวชมา 14 ปี ผมชอบอ่านชอบเขียน วิชาทำได้ดีคือเรียงความ ต่อมาไปทำงานมูลนิธิพุทธะโลภิกขุในหอสมุดแห่งชาติ ผมอยู่แผนกอักษรภาษาโบราณ รับราชการก็ซึมซับเรื่องเล่านี้มา

"บ้านผมอยู่ราชบุรี นั่งรถไฟไป-กลับ ระหว่างเดินทางไปทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ก็ใช้เวลานั้นแต่งบทเห่เรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา พอรถไฟออกเริ่มคิดกาพย์เห่เรือ ต้องบรรยายความงามของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พระราชกรณียกิจ ใช้เวลาสองเดือน แต่งเสร็จคัดลอกใส่กระดาษ ปรับแก้เสร็จ ก็ส่งตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เหมือนยกอกออกจากภูเขานะ ไม่ใช่ยกภูเขาออกจากอก

มันเป็นความรู้สึกนั้นจริงๆ รู้สึกโล่งใจเลย ลืมไปว่าส่งประกวด มีศาสตราจารย์กิติคุณฐะปะนี นาครทรรพ เป็นประธานกรรมการตัดสินการประกวด ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักท่าน ซึ่งท่านความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเป็นอย่างมาก ผลงานเด่นๆ ของท่าน เช่น แต่งดอกสร้อยสักวาที่นำมาเป็นแบบเรียนแก่นักเรียนนักศึกษา พอมีการตัดสินแล้วปรากฏว่า ผลที่ออกมาคือผมชนะการประกวดกาพย์เห่เรือ"

157613302324

แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติของกำลังพล จะต้องพายเรือในเส้นทางจากท่าราชวรดิฐ ไปวัดอรุณฯ ราว 4 กิโลเมตร ซึ่งกาพย์เห่เรือที่ชนะการประกวด มีแค่บทเดียว คือ บทนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 บรรยายความงามของเรือที่สร้างใหม่ และการใช้จินตนาการเปรียบเปรยว่าในหลวง ทรงเป็นเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมาช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากทำให้ไม่พอกับระยะเวลาของการพาย

"ผมได้รับมอบหมายให้ได้แต่งกาพย์เห่เรือเพิ่มเติม อีก 4 บท ก็มานั่งคิดกับพนักงานเห่เรือ เขาให้ข้อมูลพรรณาเรื่องอะไรบ้างเพิ่มเติม จนออกมาเป็น บทชมเรือกระบวน ยึดของเดิมบรรยายความงามของเรือ แต่ไม่ใช่การพูดถึงการนำเรือทั้ง 52 ลำมาร้อยเรียงกัน แต่เป็นการบรรยายโดยภาพรวม บทชมเมือง พูดเรื่องวัฒนธรรมประเพณี น้ำจิตน้ำใจของผู้คน วัดวาอารามบ้านเรือนเราเป็นอย่างไร

บทบุญกฐิน เพราะมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ยังไม่เคยมาใครเขียนถึง พรรณนาว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงทำบุญตามโบราณราชประเพณี และสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร ชาวบ้านนับถือศาสนาอย่างไร พระมหากษัตริย์ทรงยึดถืออย่างนั้น ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และพุทธมามกะ ทรงผนวช

และสุดท้ายคือบทสรรเสริญพระบารมี รัชกาลที่ 9 นำพระราชกรณียกิจที่ทรงงานเพื่อให้พสกนิกรอยู่ดีกินดี มาบรรยายเชิงจินตนาการ ซึ่งบทประพันธ์ประกอบสามส่วน คือ การใช้ฉันทลักษณ์ที่ถูกต้อง การใช้ภาษาและจินตนาการ"

157613309986

สำหรับครั้งนี้ ครูทองย้อยระบุว่า ตนเองแต่งกาพย์เห่เรือ บทสรรเสริญพระบารมี พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 10 บทชมเรือขบวน คือ พรรณนาความงามของขบวนเรือพยุหยาตราชลมารค

"เมื่อเราดูลวดลายเรือจะเห็นความอลังการ คนโบราณเขาทำได้ยังไงสวยจริงๆ รวมทั้งบทชมเมืองด้วยระยะเวลาในการแต่งกาพย์เห่เรือใช้เวลาราว 2 เดือน"

เพื่อให้การจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ประชาชนจะได้สัมผัสบรรยากาศงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่มีมรดกวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ และงดงามสมพระเกียรติที่สุด