ส่องไลฟ์สไตล์ 'คนมั่งคั่ง' เอเชีย ตีโจทย์ตลาดคนรวยในไทย

ส่องไลฟ์สไตล์ 'คนมั่งคั่ง' เอเชีย ตีโจทย์ตลาดคนรวยในไทย

สำรวจวิถีชีวิต "กลุ่มคนมั่งคั่ง" ในเอเชียที่มีกว่า 20.64 ล้านคน รายได้ต่อเดือนสูงลิ่ว 1.6 แสนบาท ขณะที่ไทยถือว่ารายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียอยู่ที่ 1.4 แสนบาท ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสื่อแพลตฟอร์มไหน กลุ่มนี้ก็เสพติดทั้งหมด รวมถึงแบรนด์เนมหรูด้วย

บริบทของการแลนด์สเคปที่เปลี่ยนไปตามยุคดิจิทัล เช่นเดียวกันกับผู้มีอำนาจการซื้อคือ ฐานกลุ่มคนมั่งคั่ง ผู้มีความพร้อมในการจับจ่ายซื้อสินค้า กลุ่มเป้าหมายที่นักการตลาดเข้าไปวางกลยุทธ์สื่อสาร เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการชี้นำเทรนด์และรสนิยมผู้บริโภค

อิปซอสส์ บริษัทวิจัยการตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคมายาวนานกว่า 20 ปี สำรวจเจาะพฤติกรรมเชิงลึก (Insight) ในกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย อาทิ การใช้จ่าย การท่องเที่ยว รวมถึงความสนใจต่อสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ตลอดจนทัศนคติความสนใจส่วนตัวของพวกเขา รวมถึงช่องทางการใช้สื่อพฤติกรรมการเสพสื่อ โดยการสำรวจวิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่ง (Affluent Asia) ที่นิยามกลุ่มคนนี้ในสัดส่วน 18% หรือจำนวน 20.64 ล้านคน หรือมีรายได้เฉลี่ยรวม 20 ล้านล้านบาทต่อเดือน และคนไทยที่มีรายได้รวม 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีผลกับเศรษฐกิจมหาศาล

157614265870

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรลูกค้า บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงผลสำรวจที่เข้าไปวิเคราะห์เจาะลึก 11 ประเทศในเอเชีย (APAC) และหาค่าเฉลี่ยเปรียบเทียบกับกลุ่มคนมั่งคั่งของไทย โดยกลุ่มคนไทยที่ถูกเรียกว่า กลุ่มคนมั่งคั่งถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนมั่งคั่ง (Affluent) ซึ่งรายได้เฉลี่ย 7.5 หมื่นบาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และกลุ่มคนรายได้มั่งคั่งสูง (Ultra Affluent Thailand) มีรายได้เฉลี่ย 2.75 แสนบาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

สิ่งที่พบ คือ กลุ่มคนมีความมั่งคั่งของไทย หากเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย ถือว่ายังมีรายได้น้อยกว่ามาก แม้แต่ในภูมิภาคอาเซียน ไทยยังเป็น รองกลุ่มประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียโดยกลุ่มคนมั่งคั่งทั่วไป โดยอัตราเฉลี่ยชาวเอเชียมีรายได้อยู่ที่ 5,477 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1.6 แสนบาท ส่วนค่าเฉลี่ยกลุ่มคนมั่งคั่งที่ไทยมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยคนไทยมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่เพียง 4,826 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อครัวเรือน ประมาณ 1.4 แสนบาท

อีกทั้งกลุ่มผู้หญิงในไทยจะครองสัดส่วนความมั่งคั่งสูงกว่าชาย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในเอเชีย รวมถึงกลุ่มมิลเลนเนียล อายุเฉลี่ย 30 ปี เริ่มเพิ่มสัดส่วนเข้ามามีความมั่งคั่งสูงขึ้น

"คนไทยชอบลองอะไรใหม่ๆ แสวงหาประสบการณ์ ยิ่งมีเงินมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มชอบลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้น"

สำหรับเทรนด์ที่พบในกลุ่มคนมั่งคั่งของไทยที่มีค่าสูงกว่าในเอเชีย คือ การชอบลองของใหม่ และมั่นใจตัวเอง กล้าตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือการใช้จ่าย รวมไปถึงการนิยมที่จะศึกษานอกระบบมากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย อีกทั้งยังมีความยินยอมที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้า ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมสูงกว่าคนเอเชีย รวมไปถึงคนไทยจะสนใจและซื้อเทคโนโลยี และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสูงกว่าค่าเฉลี่ยเอเชีย ตลอดจนเริ่มมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านดิจิทัลเติบโต สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย

157614251248

"คนไทยชอบลองอะไรใหม่ๆ แสวงหาประสบการณ์ ยิ่งมีเงินมากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มชอบลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้น เริ่มมีฐานะทางการเงินมากขึ้น ยิ่งมีความมั่นใจตัวเองในการตัดสินใจ ในการทำอะไรใหม่ๆ และเป็นผู้นำเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยี และการกล้าตัดสินใจในการลงทุน เพราะคนมักจะมองว่าคนมีฐานะมักจะเป็นผู้นำ มีไลฟ์สไตล์ที่ดี"

สำหรับพฤติกรรมกลุ่มคนร่ำรวยในเอเชียนิยมซื้อสินค้าหรูแบรนด์เนม อาทิ เครื่องประดับ (จิวเวลรี่) นาฬิกาหรู เครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง รองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ รวมไปถึงการซื้อไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่กลุ่มมั่งคั่งคนไทยทั้งทั่วไปและมั่งคั่งสูง ไม่นิยมซื้อสินค้าดังกล่าว หรือมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าคนมั่งคั่งเอเชีย โดยค่านิยมคนมั่งคั่งเอเชียเน้นแบรนด์ในประเทศหลากหลายแบรนด์

เขายังกล่าวถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย พบว่าคนเอเชียมีการเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี โดยเป้าหมายการเดินทางมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น รองลงมาคือ ฮ่องกง และจีน เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คาดว่าภายหลังจากที่เหตุการณ์ความวุ่นวายในฮ่องกง

157614232572

ในด้านพฤติกรรมการใช้สื่อพบว่า คนมั่งคั่งในเอเชียเสพสื่อทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงทีวีและแมกกาซีนต่างประเทศ และยึดสื่อโซเชียลเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว

"พฤติกรรมการใช้จ่าย และการใช้สื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักการตลาด จะต้องวิเคราะห์เจาะลึกเป็นรายกลุ่ม เซ็กเมนท์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น นักการตลาดจึงต้องใส่ใจรายละเอียดของข้อมูล และวิเคราะห์เจาะลึกถึงความต้องการ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคให้ตรงกับปัจจุบัน"