แนะปรับระบบประกันสังคม รับ Platform Worker อนาคต

แนะปรับระบบประกันสังคม รับ Platform Worker อนาคต

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบการทำงานเปลี่ยน เกิดอาชีพอิสระใหม่ๆ เช่น Platform Worker ประกันสังคม ซึ่งมีมาตรา 40 เพื่อรองรับแรงงานกลุ่มดังกล่าว กลับมีผู้ลงทะเบียนเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบ ทักษะอาชีพเปลี่ยนแปลงไป เกิดอาชีพอิสระใหม่ๆ เช่น Platform Worker ซึ่งใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ในการประกอบอาชีพ เช่น ยูทูปเปอร์ บริการส่งสินค้าและอาหารออนไลน์ ทำให้มีแรงงานอยู่นอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประกันสังคม ซึ่งมีมาตรา 40 เพื่อรองรับแรงงานกลุ่มดังกล่าว กลับมีผู้ลงทะเบียนเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โลกการทำงานเปลี่ยน งานบางอย่างหายไป งานใหม่เกิดน้อยลง ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไร้งาน การว่างงานระยะยาว ค่าแรงชะงักงัน ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลง เกิดความเลื่อมล้ำทะยานสูง

ภัทรพร เล้าวงค์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักวางแผนและพัฒนายุทธศาสตร์ทางสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในช่วงเสวนา ภาครัฐปรับตัวอย่างไรกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป ภายในงานประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2562 ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ The Future of Work and Social Protection “รูปแบบการทำงานนอนาคตกับการคุ้มครองทางสังคม” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบัน ตลาดงานเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ส่วนแบ่งแรงงานเมื่อเทียบกับเครื่องจักรลดลง ตอนนี้กลายเป็นว่าเศรษฐกิจโตแต่ไม่มีงาน เพราะงานบางอย่างถูกเครื่องจักรทดแทน หลายคนจบปริญญาแต่กลับทำงานต่ำกว่าระดับ เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเงินฝากในธนาคาร และเงินออม ดังนั้น ต้องมานั่งดูว่า ตอนนี้มีคนกลุ่มไหนบ้างที่ตกงาน”

อีกจุดที่สร้างความเป็นกังวล คือ รูปแบบงานในอนาคตจะไม่ปกติอีกต่อไป เป็นการจ้างงานอิสระมากขึ้น จะไม่เป็นการจ้างงานระยะยาว และอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แรงงานที่อยู่นอกระบบมีผล คือ ไม่ครอบคลุมของค่าแรงขั้นต่ำ ไม่การันตีความมั่นคงทางรายได้ วันหยุด ลาป่วย ลาคลอด ไม่ได้รับค่าจ้างเหมือนงานประจำ รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ อำนาจในการต่อรองต่ำลง และไม่มีเงินลงทุนเพราะธนาคารไม่ให้กู้เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

รูปแบบที่เปลี่ยนไป เป็นโอกาส แต่ไม่ใช้โอกาสสำหรับทุกคน ขณะเดียวกัน อาจจะเสี่ยงแต่ไม่เสี่ยงสำหรับทุกคน คนทำงานอิสระ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ “The Maverick” ขั้นเทพมีรายได้มาก “The Mass” คนส่วนใหญ่ของประเทศ และ “The Marginal” กลุ่มรั้งท้ายเกือบหลุดขอบ ดังนั้น อีกเรื่องที่ภาครัฐเป็นห่วงคือ อนาคตจะมี กลุ่ม The Mass อีกกี่คนที่ตกขอบ ไปเป็น The Marginal” ภัทรพร กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานประชุมดังกล่าว ยังเปิดเวทีให้ความรู้ และความเข้าใจงานประกันสังคมแก่ประชาชนทั่วไป และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองอาชีพงานรูปแบบใหม่ (Platform Worker) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต มุมมองการให้ความคุ้มครองทางสังคม และก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการกำหนดนโยบายและแนวทางดำเนินงานอย่างเหมาะสมต่อไป

โดยมีผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค กรรมการและอนุกรรมการของสำนักงานประกันสังคม ผุ้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้แทนนายจ้าง และลูกจ้าง นักวิชาการ นักวิจัย NGO สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 450 คน โดยมี รศ.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน

แม้ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม ในฐานะดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ได้จัดทำสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 เมื่อปี 2554 เพื่อดูแลแรงงานที่ทำอาชีพอิสระ ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 40 เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น จากผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วประเทศกว่า 24 ล้านคน

157607696563

พิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันผู้อยู่ในวัยแรงงานนิยมทำงานนอกระบบการทำงานมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองแรงงาน นอกจากผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 แล้ว สปส. ยังมี ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 สำหรับผู้ทำงานอิสระ ผู้ที่มีสิทธิสมัคร ได้แก่ ผู้ที่ทำอาชีพอิสระสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 หรือ 6 หรือ 7 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่เป็นผู้พิการทางสติปัญญา

“โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ เงินทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยสูงสุด 300 บาทต่อวัน รับเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เดือนละ 500-1,000 บาท รับเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล รับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อเดือน (ไม่เกิน 2 คน) และ รับเงินค่าทำศพกรณีตายสูงสุด 40,000 บาท จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ทำงานอิสระกว่า 24 ล้านคน มีผู้ขึ้นทะเบียนประกันตนมาตรา 40 เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น”

ขณะที่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อริเริ่มโครงการเสริมศักยภาพสำนักงานประกันสังคมด้านการออกแบบนโยบายโดยมุ่งเน้นที่การวิจัยและงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยมีกรอบความร่วมมือระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน

นูโน่ คุนย่า ตัวแทนจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า สิ่งที่ ILO จับตาตลอดมา คือ ตลาดแรงงาน ที่มีลักษณะที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ การสร้างอาชีพผ่านแอป ออนไลน์ ดิจิทัล นี่ไม่ใช่กระแสแค่ในไทย แต่ไปทั้งภูมิภาคอาเซียน การศึกษาขั้นแรกคือ ต้องมีคำจำกัดความ ของคำว่า “Platform Worker” เพราะในกลุ่มนี้ มีทั้งขายของ ขายแรงงาน ทางออนไลน์ ซึ่งมาในรูปแบบงานที่เราไม่คุ้นเคย เป็นการทำงานชั่วคราว ไม่ใช่ทำงานประจำ หรือบางคนเรียกว่าเป็นนายตัวเอง เช่น ขับแกรบ อยากทำตอนไหนก็ได้ ผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่นาย ดังนั้น สิ่งที่หลายประเทศพูดคุย คือ ใครจะเป็นนายจ้าง และใครจะรับผิดชอบ ดูแลกลุ่ม Platform Worker และดูแลอย่างไร

ประกันสังคมทั่วโลก ประสบปัญหานี้ เพราะตอนแรกทำประกันสังคมเพื่อรองรับลูกจ้างที่อยู่ในระบบ แต่ปัจจุบัน มีลูกจ้างนอกระบบ เราจะไปควานหาอย่างไร เพราะมีจำนวนมากกว่าที่เราคิด ดังนั้น อยากให้หาข้อมูลให้มาก และทำความเข้าใจว่าใครเป็นกลุ่มที่อยากจะดึงเข้ามาในระบบ เช่น คนขับแกรบ มีกี่คน สัดส่วนการแบ่งรายได้เป็นอย่างไร รวมถึงกำหนดกรอบกฏหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะลูกจ้างและนายจ้าง เช่น แกรป ควรจะได้รับการจ่ายสมทบหรือไม่

“นอกจาก ประกันสังคมแล้ว กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพานิชย์ ต้องพูดคุยกันเพิ่มเติม และสุดท้ายคือ ไม่อยากให้แบ่งแยกว่า ในระบบหรือนอกระบบ เพราะความจริงแค่รูปแบบการทำงานต่างกัน อยากให้ดูในภาพใหญ่ มากกว่าการจำกัดในกลุ่มเล็กๆ อยากให้ระบบประกันสังคม เป็นเหมือนกิ้งก่า ปรับตัวได้ ไม่ใช่มาตรฐานตายตัว เพราะคนทำงานมีความหลากหลาย ระบบเราจึงต้องเอื้อพอให้คนหลายกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” ตัวแทน ILO กล่าว

 

ด้าน โกมล มุทุกันต์ ในฐานะตัวแทนจาก Platform Worker ให้ความเห็นว่า สิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจ ให้เหล่า Platform Worker มาสมัครมาตรา 40 มากขึ้น คือ ผลประโยชน์ ที่แตกตางจากประกันชีวิต จ่ายน้อยกว่า ได้ผลประโยชน์มากกว่า และในวันหนึ่งที่พวกเขาทำงานไม่ได้ จะมีผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ คิดว่านี่จะเป็นแรงจูงใจให้มีคนสมัครมากขึ้น