'ปิยบุตร' ซัดรธน.60 แค่กระดาษมัดรวม จี้ให้ศึกษาแก้ไข

'ปิยบุตร' ซัดรธน.60 แค่กระดาษมัดรวม จี้ให้ศึกษาแก้ไข

“ปิยบุตร” ซัดรธน.60 แค่กระดาษมัดรวม จี้ให้ศึกษาแก้ไข ดักคอ “กมธ.” ต้องศึกษาแนวทางเพื่อแก้ไข อย่าขวางทาง-ซื้อเวลา

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 11 ธ.ค.62 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เร่ิมเข้าสู่การพิจารณากลุ่มญัตติ ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  จำนวน 6 ญัตติ ได้แก่ 1.ญัตติให้ศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ​ เสนอโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, 2.ญัตติให้สภาฯ ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เสนอโดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, 3.ญัตติให้ศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสนอโดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนาและนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา, 4.ญัตติศึกษาเรื่องหลักเกณ์และวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, 5.ญัตติให้ศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสนอโดยนายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทยและ 6.ญัตติขอให้ศึกษากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย 

โดยนายปิยบุตร อภิปรายฐานะผู้เสนอญัตติว่า การเสนอญัตติด่วน มีประเด็นที่เกิดจากความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ดังนั้นกมธ.ฯ​ที่จะถูกตั้งให้ทำหน้าที่ รวมถึงตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ต้องไม่ใช่การขัดขวาง หรือ ชักใบให้เรือเสีย หรือนำไปสู่ทิศทางทางตีรวน หรือ ซื้อซื้อเวลาไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ล็อคไว้หลายชั้น ทำให้แก้ไขได้ยาก หรือในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้เปรียบเหมือนกับบุคคลที่เขียนรัฐธรรมนูญรุ่นก่อน ซึ่งตายไปแล้ว บีบคอคนรุ่นปัจจุบันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ยกเว้นอาศัยเสียงของส.ว. ทั้งนี้ตนมองว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญที่ดี ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเรียกร้องสิทธิอย่างสม่ำเสมอและรัฐบาลมีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ไม่ใช่มีสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญดี จะทำให้เกิดรัฐบาลที่ดี เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ส่วนที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามตินั้น ตนมองว่าการทำประชามตินั้นไม่อิสระและเป็นธรรมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามนักการเมืองไม่ได้แก้ไขเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่มีคนที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของเอง 

“การวางเนื้อหาให้แก้ไขยาก เหมือนกับการเล่นสนุ๊ก คือแทงเสร็จแล้วกัน วางสนุ๊กวางเหลี่ยมกันไว้ ไม่ให้แก้ได้ง่ายๆ ผลลัพท์ที่ตามมาคือ กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน แต่ระบบปกติไม่สามารถทำได้  อาจก่อให้เกิดสภาพไม่พึงประสงค์ตามรัฐธรรมนูญคือ การรื้อทิ้ง จากคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่ายึดโยงกับคณะรัฐประหาร  และมีเนื้อหาที่ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ โดยมีประเด็นที่ต้องแก้ไข คือ ฝังอำนาจรัฐประหาร ฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเขียนว่าสืบทอดอำนาจถึงชาติหน้าคงทำได้ การมาของส.ว. ที่มาจากอำนาจของคณะรัฐประหาร ทั้งนี้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญทำให้เกิดสภาพสภาเสียงปริ่มน้ำ และถูกสื่อมวลชนระบุว่าสภาฯ มีสภาพเป็นงูเห่า ทำให้รัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรม ซึ่งผมมองว่ารัฐธรรมนูญ 60 คือ เอกสารที่มัดรวมแล้วถูกเรียกชื่อว่ารัฐธรรมนูญ เนื่องจากให้อำนาจส.ว. โหวตนายกฯ และการคงการใช้อำนาจคสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” นายปิยบุตร กล่าว