‘ยูโอบี’ผนึก'ลาซาด้า' รุกปล่อยกู้ร้านค้าออนไลน์

‘ยูโอบี’ผนึก'ลาซาด้า' รุกปล่อยกู้ร้านค้าออนไลน์

"ยูโอบี"รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ จับมือ "ลาซาต้า-เบนโต๊ะเว็บ"  ปล่อยกู้ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มลาซาด้า ภายใต้โปรดักท์  "UOB BizMerchant"  ให้ดอกเบี้ยต่ำ12% ผ่อนชำระ 1ปี สำหรับร้านค้าที่ทำธุรกิจต่อเนื่องบนลาซาด้าอย่างน้อย 6 เดือน

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี  กล่าวว่า ธนาคารได้จับมือลาซาด้า แพลตฟอร์มธุรกิจซื้อขายออนไลน์ และเบนโตะเว็บ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการระบบของร้านค้าออนไลน์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือร้านค้า ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และให้ร้านค้ามีเครื่องมือช่วยจัดการระบบร้านค้าออนไลน์ครบวงจร เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดด คาดมูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เป็น 18,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 ถือเป็นแนวโน้มการเติบโตอย่างมหาศาล

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปัจจุบัน หันมาทำธุรกิจบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น  จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธนาคารจะสร้างฐานการเติบโตใหม่ๆจากธุรกิจออนไลน์เหล่านี้ ผ่านการเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มของลาซาด้า ผ่านสินเชื่อ “ UOB BizMerchant” หรือสินเชื่อไม่มีหลักประกันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  ตั้งเป้าสินเชื่อดังกล่าว500 ล้านบาทภายใน1ปีข้างหน้า คาดว่าจะได้มาร์เก็ตแชร์ร้านค้าราว 10% หากเทียบกับร้านค้าบนลาซาด้าที่มีการค้าขายสม่ำเสมอราว2หมื่นร้านค้าในปัจจุบัน

ร้านค้าที่จะขอสินเชื่อดังกล่าวได้ คือร้านค้าออนไลน์ ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจบนลาซาด้าอย่างน้อย 6 เดือน  มียอดขายรวมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มากกว่า 5 แสนบาทขึ้นไป สามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านเว็บลาซาด้า หรือผ่านสาขาของแบงก์  ให้วงเงินขั้นต่ำ 2แสนบาท สูงสุด 1ล้านบาท  ผ่อนชำระ 12 เดือน ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ  MRR+7 หรืออัตราดอกเบี้ยที่ 14.75% แต่หากเปิดบัญชีสินเชื่อพร้อมเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน Bizvalue  รับดอกเบี้ยพิเศษ12%

“จากผลสำรวจร้านค้าบนลาซาด้า มีร้านค้าที่มียอดขายสม่ำเสมอ 2หมื่นร้านค้า จากทั้งหมด 1แสนร้านค้า  คาดว่าจะดึงมาเก็ตแชร์ตรงนี้มาได้ราว 10%   ทำไมร้านค้าต้องมีรายได้สะสมภายใน6เดือน5 แสนบาท เพราะเรามองว่ากลุ่มนี้มีความมั่นคงทางธุรกิจค่อนข้างมาก ถึงจะมีเงินคงค้างขนาดนี้ ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงจากการเข้าไปปล่อยสินเชื่อได้ในอนาคต แต่หากมีรายได้ต่ำกว่านี้ โอกาสที่ร้านค้าจะล้มเลิกกิจการอาจมีสูงกว่า”

สำหรับภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท ธนาคารคาดว่าปีนี้น่าจะเห็นการเติบโตได้ราว 2-3% หากเทียบกับยอดคงค้างที่ราว 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะเห็นยอดปล่อยกู้ใหม่(นิวโลน)ให้กับกลุ่มนี้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีหน้าธนาคารตั้งเป้าเติบโตของสินเชื่อใหม่อีกราว 3% ต่อจากปีนี้ และคาดสินเชื่อเอสเอ็มอีรวมน่าจะเติบโตใกล้เคียงกันราว 3% ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารทำได้ดีภายในเศรษฐกิจชะลอตัว คือการบริหารจัดการด้านคุณภาพหนี้ โดยสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ให้อยู่ในระดับทรงตัวที่ 4.6% ซึ่งต่ำกว่าเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีของทั้งระบบ ที่ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบสองหลักแล้ว ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อปีหน้า ยังอยู่ในโหมดระมัดระวัง และปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม  ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 5%