เปิดกลยุทธ์ 'ซัมมิทแคปปิตอล' ภายใต้การนำของ 'ฮิเดโตโมะ ฟูจิวาระ'

เปิดกลยุทธ์ 'ซัมมิทแคปปิตอล' ภายใต้การนำของ 'ฮิเดโตโมะ ฟูจิวาระ'

บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเครือ “ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น” ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้ง "ฮิเดโตโมะ ฟูจิวาระ" เป็นประธานบริหารคนใหม่ ต่อจาก “วิชิต พยุหนาวีชัย” มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา 

" ฟูจิวาระ"  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ”หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ"  ถึงนโยบายการทำธุรกิจว่า  นโยบายหลักของบริษัทยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมและอุตสาหกรรมสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อบุคคลของไทย ภายใต้แนวทาง “การปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ”ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมุ่งสนับสนุนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แนวทางการบริหารงาน ยังมีความต่อเนื่องในการสร้างการเติบโต ด้วยการขยายสาขา การสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ  และการเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ ภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีและค่านิยมหลักขององค์กรตามแนวทาง  “I TRUST”  ซึ่งประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ (Integrity) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Responsibility) ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unity) บริการที่ยอดเยี่ยม (Service excellence) และเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and innovation) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และทำให้ระบบการปฏิบัติงานของบริษัทเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจ พร้อมรองรับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจต่อไป

ด้วยจุดแข็งในปัจจุบันของบริษัท ที่มีจำนวนฐานลูกค้าเป็นอันดับหนึ่งในตลาด มีการบริการที่ดีและรวดเร็วที่สุดในตลาด ด้วยการอนุมัติสินเชื่อภายในเวลา30นาที และในอนาคตยังสามารถพัฒนาให้เร็วยิ่งขึ้นได้อีก ประกอบกับมีการบริหารความเสี่ยง มีคุณภาพหนี้ที่ดี ปัจจุบันมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ1% ยังต่ำกว่าในตลาดและคู่แข่ง

“เราไม่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทางธปท. ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน คือ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องนี้มาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ระดับหนี้ครัวเรือนของครอบครัวไทยสูงมากแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด สะท้อนจากการควบคุมคุณภาพหนี้ได้ดี”

สำหรับเป้าหมายและแผนการดำเนินธุรกิจในปี2563 นายฟูจิวาระ บอกว่า บริษัทตั้งเป้าหมายสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เติบโต10% มีมูลค่า 9,200 ล้านบาท และมีจำนวนสัญญาเช่าซื้อเพิ่มขึ้น7% เป็นจำนวน 127,000สัญญา จากในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย มีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มูลค่า 8,300ล้านบาท และมีจำนวน สัญญาเช่าซื้อ 119,000 สัญญา ซึ่งฐานลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ ยังเป็นกลุ่มเกษตรกร พนักงานโรงงาน เป็นหลัก

ทั้งนี้ ในปีหน้าจะเดินหน้าขยายตลาดวงกว้างมากขึ้น พร้อมกับเน้นการให้ความรู้กับประชาชน ในเรื่องการวางแผนการใช้เงินโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน

สำหรับการขยายธุรกิจหลักสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จะเน้นการเพิ่มช่องทางการขายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากขึ้น ด้วยการลงทุนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงระบบภายในใช้ระบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation) หรือ DX และเพิ่มจำนวนสาขาอีก 20% จากปัจจุบันมี35สาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่สำคัญต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าบุคคลและดีลเลอร์อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งหวังว่า จะพัฒนาไปสู่การให้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในอนาคต เพื่อเป็นผู้นำการให้สินเชื่อผ่านเทคโนโลยี และหาก e-KYC  มีการบังคับใช้จริง ก็พร้อมดำเนินการทันที โดยจะนำประสบการณ์ที่เคยบริหารงานในอินเดียมาปรับใช้ มั่นใจว่าจะสร้างโอกาสในการแข่งขันกับสถาบันการเงินได้ อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างกำลังศึกษาสินเชื่อจำนำทะเบียน มองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ หากมีโอกาสก็พร้อมที่จะขยาย

นอกจากนี้ จะขยายตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น มองว่ายังมีช่องทางในการเติบโตจากความต้องการในตลาดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง   ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการวางกฎเกณฑ์ป้องกันความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เพื่อสร้างฐานลูกค้าที่มีคุณภาพและสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง

“ฟูจิวาระ” บอกว่าหลังจากศึกษาตลาดสินเชื่อเช่าซื้อในไทย  มองว่า การขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคโนมี่ของไทยเป็น  "โอกาส" ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจมากยิ่งขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังเป็น“อุปสรรค” แต่คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาได้

ส่วนทางด้านการแข่งขันนั้น ในพื้นที่กรุงเทพฯยังแข่งขันสูง  ซึ่งเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจ ดังนั้นบริษัทมุ่งขยายบริการสินเชื่อต่างๆไปในตลาดภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะมองว่าลูกค้าเราอยู่ทุกที่ 

“ขณะนี้หนี้ครัวเรือนยังสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจทำมากไม่ได้ แต่หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ น่าจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลดีต่อยอดขายรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อดีขึ้น อีกทั้งการที่ธปท. ลดดอกเบี้ย เป็นผลดี ทำให้ต้นทุนผู้บริโภคและต้นทุนบริษัทลดลง โดยเราจะพยายามรักษาดอกเบี้ยในระดับนี้เอาไว้ เพื่อคุมคุณภาพหนี้”