'อาร์เซ็ป' ดันโกลบอลแวลูเชน หนุน 'อีอีซี' เชื่อมโลก

'อาร์เซ็ป' ดันโกลบอลแวลูเชน หนุน 'อีอีซี' เชื่อมโลก

การผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางเชื่อมเศรษฐกิจนอกภูมิภาค และได้ประโยชน์สูงสุดต่อการค้าการลงทุนในฐานะห่วงโซ่ภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จของอาร์เซ็ป

“ความสำเร็จของอาร์เซ็ป หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค : Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP นั้นจะส่งเสริม ให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจนอกภูมิภาคและได้ประโยชน์สูงสุดต่อการค้าและการลงทุนในฐานะห่วงโซ่ภูมิภาค” 

ข้างต้นเป็นข้อความส่วนหนึ่งของรายงานการรวมกันแห่งอาเซียน ปี 2562 (ASEAN Integration Report 2019) ที่เผยแพร่เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมาระบุถึงอาร์เซ็ป พร้อมเผยถึงศักยภาพของอาเซ็ป ว่าเมื่อปี 2561 มีสัดส่วนประชากรถึง 47.4%ของประชากรโลก มีสัดส่วนการค้าถึง 29.2% ต่อการค้าโลก และ มีความสามารถด้านการผลิตถึง 32.2% ของโลก 

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของอาร์เซ็ปไม่เป็นไปตามข้อมูลดังกล่าวหลังจากการประกาศความสำเร็จการเจรจาที่กรุงเทพเมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีอินเดียร่วมในแถลงการณ์ด้วย

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาอาร์เซ็ปของไทย กล่าวว่า อินเดียตัดตัวเองออกจากอาร์เซ็ป เพราะไม่พร้อมเปิดเสรีกรอบการค้าที่มีจีนอยู่ด้วย ขณะที่จีนและญี่ปุ่นมีท่าทีตรงกันข้ามคือพร้อมเจรจากับอินเดีย ทั้งนี้ในทางหลักการแล้วสถานะอินเดียยังถือว่าเป็นสมาชิกอาเซ็ป เท่ากับว่าอินเดียอาจยังรวมอยู่ในข้อตกลงฯด้วยหากสามารถหาข้อสรุปร่วมกันที่เหมาะสมได้

“สำหรับประเทศไทยการมีหรือไม่มีอินเดียถือว่าเท่าทุน เพราะควรมองอาร์เซ็ปในเชิงยุทธศาสตร์ นอกจาก ประเด็นทางการค้าแล้ว อาร์เซ็ปถือว่ามีประโยชน์มากกว่านั้นเพราะเป็นข้อตกลงที่สามารถรองรับประเด็นทางการค้าใหม่ๆในอนาคตได้” 

ขณะเดียวกันตามเป้าหมายอาร์เซ็ปต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยข้อตกลงทางการค้าที่มีเงื่อนไขและมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค จะทำให้การส่งผ่านด้านการผลิตคล่องตัวและมีต้นทุนที่ต่ำ  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากนอกภูมิภาคและภายในภูมิภาคด้วยกันเอง

สำหรับบทสรุปการเจรจาอาร์เซ็ปที่ดำเนินการมานาน 7 ปี มีสาระสำคัญต่างๆที่ตอบสนองเป้าหมายว่าด้วยการขยาย ”ห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค” (regional value chain) รวมถึงการนำตลาด การจ้างงานและโอกาสทางธุรกิจสำหรับประชาชนของภูมิภาค

ทั้งนี้ อาร์เซ็ปได้รวมเอาข้อตกลงการค้าเสรีดั่งเดิมของอาเซียน รวมเข้ากับประเด็นทางการค้าแห่งยุคที่ว่าด้วย ”พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีความจำเป็นต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)และความซับซ้อนของการแข่งขันในตลาดการค้าที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

157606839288

อาร์เซ็ปไม่ได้แทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่มีอยู่ แต่เป็นการรวมข้อตกลงการค้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้ในกฎระเบียบเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและทำให้ภูมิภาคคือห่วงโซ่มูลค่าที่ได้รับการพัฒนาและพร้อมขยายตัวได้ในอนาคต"

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะความท้าทายของอาร์เซ็ปคือ ความแตกต่างของทั้ง 16 ประเทศ ที่มีทั้งระดับการพัฒนาและความหลากหลายต่างๆ ดังนั้นการเจรจาจึงต้องกำหนดข้อตกลงที่มีบทบัญญัติที่แน่ใจได้ว่าระดับความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ขนาดของธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต้องได้รับประโยชน์ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ข้อตกลงนี้ยังให้ความร่วมมือทางเทคนิคและการสร้างขีดความสามารถของสมาชิกให้ได้รับประโชยน์สูงสุดร่วมกัน

ด้านการค้าสินค้า ระบุถึงข้อกำหนดต่างๆที่ไม่ใช่ภาษีที่ต้องสอดคล้องกับหลักการการค้าเสรีด้วย ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ค่าธรรมเนียม หรือกฎระเบียบต่างๆ เช่นเดียวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ยึดหลักการต้องง่ายสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในที่นี้รวมถึงกฎต่อสินค้าเฉพาะด้วย

มาถึงหัวข้อเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร อาร์เซ็ปย้ำ ถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการค้าที่จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายห่วงโซอุปทานของภูมิภาค จึงกำหนดกรอบว่าด้วยพิธีการศุลกากรของประเทศสมาชิกที่ต้อง โปร่งใส เข้มงวด รวดเร็วไม่ว่าจะเรื่องการบริหารจัดการกฎระเบียบ หัวข้อสุขอนามัย โดยย้ำถึงการใช้ที่ต้องมีเหตุเพื่อการปกป้องสุขอนามัยจริงๆไม่ใช่การนำมาใช้เพื่อกีดกันคู่ค้า

ส่วนการค้าบริการ ให้นำออกกำหนดให้กฎระเบียบใดๆที่นำไปสู่การปฎิบัติที่แตกต่างจากธุรกิจท้องถิ่นในกรณีการค้าบริการแบบข้ามพรมแดน การเคลื่อนย้ายบุคคล กำหนดเพียงสั้นๆว่า ให้อำนวยความสะดวกกรณีการเข้าหรือพำนักชั่วคราวต่อบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือมีส่วนสนับสนุนธุรกิจบริการหรือการลงทุน ไม่ได้กำหนดถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบรับสมองไหลอย่างที่เป็นกระแสก่อนหน้านี้ 

ในขณะที่ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญารับรองการใช้มาตรการสิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตร หรือ ซีแอล ซึ่งเป็นตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนภาคการลงทุน ข้อตกลงระบุว่า เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมดึงดูดการลงทุน จึงกำหนดปัจจัย 4 ด้าน คือ การปกป้อง  การลงทุนอย่างเสรี  การส่งเสริมการลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุน อย่างไรก็ตาม อาร์เซ็ป สงวนเงื่อนไขห้ามนักลงทุนฟ้องรัฐไว้  หรือ ISDS -inveatment หลายประเทศมีจุดยืนชัดเจนให้เอาออก เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

จากศักยภาพของอาร์เซ็ปที่มีความสอดคล้องกับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลกเพราะไทยไม่ได้กำลังนำเสนอการลงทุนเพื่อตลาด 70 ล้านคน แต่เป็นการลงทุนที่มีเป้าหมายสู่ตลาดที่มีประชากรเกือบครึ่งของโลก

157614076282