กรมเจรจาฯ’ กางแผนปี 63 เร่งเจรจาเอฟทีเอ  สร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย

กรมเจรจาฯ’ กางแผนปี 63 เร่งเจรจาเอฟทีเอ  สร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนปี 2563 เน้นขยายโอกาสการค้าการลงทุนไทยผ่านเอฟทีเอ ดันลงนามอาร์เซ็ป พร้อมเร่งเจรจาปิดดีลเอฟทีเอคงค้าง เปิดการเจรจากรอบใหม่ๆ และยกระดับเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการทำงานปี 2563 ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่า   ในปี 2563  กรมได้กำหนดแผนงานสำคัญออกเป็น 2 ด้านใหญ่คือ  ด้านแรก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย โดยมีแผนงาน 6 ด้านประกอบด้วย 1.เร่งทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ป อีก 15 ประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและประชุมรัฐมนตรีการค้า เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายความตกลงอาร์เซ็ป และหาข้อสรุปประเด็นคงค้างของอินเดียให้เป็นที่พอใจร่วมกันให้เสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2563 เพื่อรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ลงนามความตกลงร่วมกันได้ในปลายปีนี้     2. เร่งเจรจาปิดรอบความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ค้างอยู่ ทั้งไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน โดยเฉพาะไทย-ตุรกี ที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปี 2563

3.เตรียมการเข้าร่วมเจรจาเอฟทีเอกรอบใหม่ ทั้งเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปหรืออียู ที่ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในต้นปีหน้า เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร  ซึ่งต้องรอให้เบร็กซิทนิ่งก่อน รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพี ที่อยู่ในระหว่างรวบรวมผลศึกษา เพื่อส่งให้กนศ.พิจารณา นอกจากนี้ยังมีเอฟที่เอไทย-เอฟต้า (EFTA ) ที่ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเทนสไตน์ และไอซ์แลนด์ ที่การเจรจาหยุดชะงักไป ส่วนเอฟทีเอไทย-EAEU ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย   เอฟทีเอไทย-บังคลาเทศ  อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน   

4.ยกระดับหรือทบทวนปรับปรุงความตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำแล้วกับหลายประเทศในปัจจุบัน เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือผนวกเพิ่มข้อบทใหม่ๆ ในความตกลง เพื่อให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น 5. เข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการการค้าหรือเจทีซี กับประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและเจรจาลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าของไทย เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และโมซัมบิก เป็นต้นและ6.การปฏิรูปดับบลิวทีโอ โดยเฉพาะการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท การจัดความตกลงเพิ่มเติม เช่นเรื่องอีคอมเมิร์ซ ความตกลงการอุดหนุนประมง เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า  ด้านที่ 2 การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความพร้อมรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ  โดยกรมจะสานต่อการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น อย่างต่อเนื่อง โดยการจัดสัมมนาเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอฟทีเอ ตลอดจนลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆเพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความตื่นตัวในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีเอฟที13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2561 การค้าไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากปีก่อนหน้ากว่า 11 %  คิดเป็นสัดส่วน 60 %  ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก สำหรับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562  การค้าไทยกับ 18 ประเทศเอฟทีเอ มีมูลค่า 253,898.1 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 62.4 %  ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 128,271.2 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 125,626.9 ล้านดอลลาร์  สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น